นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจทุกด้านเป็นระบบ

  • พร้อมลงทุนเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น
  • แก้ไข Disruption จากเทคโนโลยี ดิจิทัล ค่าเงินบาท
  • สิ่งน่าห่วงคือความขัดแย้งในประเทศ

เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.64) เวลา 22.45 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล กรณีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเด็นต่างๆ

นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดจากหลายปัจจัย เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาค เศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจจุลภาค การส่งออก อย่างไรก็ดี มีการติดต่อกับเอกชนหลายส่วนที่ติดต่อ ผ่านการประชุมทางไกล พร้อมลงทุนกับไทยเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น มีการพูดคุยรูปแบบทวิภาคี และพหุภาคี ผ่านเอกอัครราชทูต กระทรวง รองนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในช่วงนี้คือตลาดการท่องเที่ยวที่ยังไม่พร้อมเพราะสถานการณ์โควิดยังคงมีอยู่ รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุด ทั้งเรื่อง Disruption จากเทคโนโลยี และดิจิทัล ปัญหาจากค่าเงินบาท

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า รัฐบาลมีโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทยกระดับการเกษตรกรรม ซึ่งมีสัดส่วนใน GDP น้อยมาก เพราะราคาไม่คงที่ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจุดเด่นประเทศไทยเรามีอยู่พร้อม ทั้งในเรื่องการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่ต่างชาติยังมีข้อห่วงกังวลเรื่องความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันด้วย ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่น เรื่อง Unicon เพื่อสนับสนุนธุรกิจ Startup รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนอยู่เช่นกัน

นายกรัฐมนตรีเผยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลงประมาณร้อยละ 6.0 ซึ่งก็ลดลงน้อยกว่าหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ลดลงร้อยละ 9.5 ฮ่องกงลดลงร้อยละ 6.1 ขณะที่ไทยมีอัตราการพึ่งพิงการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง รายรับการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงขึ้นถึงร้อยละ 13.0 ต่อ GDP เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนรายรับการท่องเที่ยวต่อ GDP เพียงร้อยละ 12.5, 5.7, 1.5 และ 0.05 ตามลำดับ รัฐบาลจึงมีการปฏิรูปการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เฉพาะกลุ่ม เฉพาะกิจกรรม ซึ่งรัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมไว้พอสมควรเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ประกอบกับประชากรไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำ โดยในปี 2562 ประชากรวัยสูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 14.6 ของประชากรวัยแรงงาน ซึ่งในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะคาดแคลนประชากรวัยแรงงาน รวมทั้ง การบริโภคภายในประเทศยังมีข้อจำกัด เพราะมีการขยายตัวของประชากรที่ต่ำ
สัดส่วนการลงทุน ในปี 2560-2562 เกิดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาสงครามการค้า สถานการณ์โควิด-19 และมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งทุกประเทศก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดังนั้น อย่านำสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของประเทศไทยไปเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะมีความแตกต่างกันทั้งในระบอบการปกครองและกฎระเบียบ
ซึ่งไทยพยายามปรับแก้หลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปรับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอุตสาหกรรมใหม่ การให้บริการต่างๆ ที่รวมถึงช่องทางออนไลน์ จนมีความพร้อมในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว
ในส่วนของตัวเลขทางเศรษบฐกิจที่สภาพัฒฯ แถลงในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ติดลบน้อยลงจากที่มีการคาดการณ์ไว้ เป็นเพราะการบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.9 ซึ่งก็เกิดจากการดำเนินมาตรการของรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง ซึ่งช่วยเหลือการจับจ่าย ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประชาชน

นายกรัฐมนตรีย้ำต้องมีการปรับตัวในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่เคยกล่าวว่าใครไม่เสียภาษี มีแต่กล่าวว่าใครเสียมากเสียน้อย แต่ทุกคนก็ได้รับการดูแลจากรัฐบาล ขออย่าได้ยุยงให้เกิดความแตกแยกในประเทศชาติ
ในปี 2563-2564 รัฐบาลมีมาตรการลดภาษี ลดดอกเบี้ย ทำให้รายได้ของประเทศลดลง จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงต้องนำงบประมาณมาช่วยเหลือ กรณีสินค้าเกษตรกรรม ป่าไม้ ประมงกลับมาขยายตัวเป็นเรื่องที่ดี ดัชนีสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้น อัตราการว่างงานลดลง รัฐบาลดูแล มีมาตรการรองรับ ช่วยเหลือตามกลไกที่เหมาะสม นายกรัฐมนตรีย้ำว่าคิดว่าเป็นรัฐบาลแรกที่มีการจ่ายเงินตรง เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือผ่าน big data พร้อมยืนยันได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานดำเนินการตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้