ธุรกิจท่องเที่ยวสาหัส!ผวาตกงานทะลุ 2 ล้านคน โควิดระลอกใหม่พาล่มจม

  • ร้องรัฐช่วยจ่ายค่าแรง 72,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 8 แสนคน
  • ชงตั้งธนาคารแรงงาน
  • แอตต้ากระตุ้นเปิดประเทศรับคนฉีดวัคซีน

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยน.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่ ประจำไตรมาส 4/2563 เท่ากับ 62 ใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2563 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 1/2564 เท่ากับ 53 ถือว่าต่ำกว่าระดับปกติมาก เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาส 4/2563
“จากการสำรวจยังพบว่า ตลอดทั้งปี 2563 มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตกงานประมาณ 1.04 ล้านคน และในไตรมาส 4/2563 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีการปิดกิจการชั่วคราว 10% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2563 ที่ 3% และมีการปิดกิจการถาวร 3% เท่าเดิม ทั้งนี้ พบว่าสถานประกอบการ 85% ยังคงเปิดกิจการ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีลูกค้า โดย 50% ของธุรกิจที่เปิดกิจการมีการลดจำนวนพนักงานลง 30-40% ของพนักงานที่เคยจ้าง ส่วนพนักงานที่ทำงานอยู่ในระบบ รายได้จะลดลง 20-30% ของรายได้ที่เคยรับ เนื่องจากมีการลดเงินเดือน หรือลดเวลาการทำงาน”

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อาจทำให้แรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวตกงานมากกว่า 2 ล้านคน จากที่อยู่กว่า 4 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มีทุนพอที่จะรักษาการจ้างงานได้อีกต่อไป เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างแพร่หลายแล้ว การท่องเที่ยวจะสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจจะปิดกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียโอกาสในการที่จะให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงจะเสนอนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาว่า จำเป็นที่จะต้องเร่งสร้าง Tourism Labor Bank หรือ ธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือผู้ถูกพักงานสามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงาน และผู้ประกอบการสามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการ และขอให้รัฐเข้ามาสนับสนุนงบประมาณ เช่น การร่วมจ่ายค้าจ้างหรือ Co-Pay สำหรับการจ้างงานของภาคเอกชน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท.และนายกสมาคมโรงแรม กล่าวว่า แรงงานท่องเที่ยวที่อาจตกงานถึง 2 ล้านคน เป็นความรู้สึกที่สาหัส ลำบาก เจ็บปวดที่สุด ความหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาไตรมาส 4 ปีนี้ เท่ากับประเทศไทยต้องปิดรับนักท่องเที่ยวถึง 2 ปี กำไรที่สะสมมาในปีก่อนๆ ก็หมดไปแล้ว จึงเสนอให้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้างในรูปแบบ Co-Pay ให้กับแรงงานที่มีอยู่ 800,000 คน ในอัตราครึ่งหนึ่งของเพดานเงินเดือนสุงสุด 15,000 บาท หรือคนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 1 ปี มีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องไปเลิกจ้างแรงงานคนนั้น เพราะกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงสภาวะปกติในอีก 2 ปีข้างหน้า

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอนี้รัฐต้องใช้เงินมากถึง 72,000 ล้านบาทคิดว่าจะได้รับการตอบรับหรือไม่ นางมาริสา กล่าวว่า แล้วแต่ภาครัฐจะพิจารณา แต่ในมุมของเอกชนมองว่าต้องขอให้ช่วยเรื่องนี้ แบ่งเป็น แรงงาน 400,000 คนอยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและอีก 400,000 คนในธุรกิจโรงแรม ขณะที่นายชำนาญ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้มองว่าเป็นทางออกของประเทศ อยากให้ภาครัฐพิจารณา ช่วยเหลือ 3 เดือนก็ยังดี

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) กล่าวว่า ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ สทท.และคณะจะเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เพื่อเสนอให้มีนโยบายที่ชัดเจนในการ เปิดประเทศรับชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกมีคนได้รับวัคซีนแล้ว 65 ล้านคน หลายประเทศ เช่นไอซ์แลนด์ สิงคโปร์ ประกาศเปิดรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ดังนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาทันในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)มองไว้ว่าปีนี้จะได้ 10 ล้านคน ประเทศไทยก็ต้องประกาศนโยบายที่ชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้ ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนไทยที่เป็นแนวหน้า อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ คนสูงอายุ และคนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดแล้ว ลำดับต่อไปขอให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซันกับคนที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต สมุย กระบี่ พัทยา เพราะเป็นเมืองที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจะได้เกิดความสบายใจกับคนในพื้นที่และช่วยเศรษฐกิจได้ด้วย