ธนาคารโลกขยับประมาณการณ์จีดีพีไทยปี 66

.เพิ่มเป็น 3.9% จากคาดการณ์เดิมโตแค่ 3.6%
.รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นโดยเฉพาะจากตลาดจีน
.แต่ลงทุนรัฐยังอ่อนแอเหตุยังตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ

ธนาคารโลก ปรับเพิ่มจีดีพีไทยปี 66 เพิ่ม 3.9% จากเดิม 3.6% หลังได้รับแรงหนุนจากท่องเที่ยว แต่ส่งออกหด ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอ


ทั้งนี้ ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย.66 ธนาคารคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.9% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมเดือนเม.ย.66 ที่ 3.6% โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวก่อนที่จะชะลอลงในระยะข้างหน้าจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งเกินคาดจากจีน ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวเนื่องจากความต้องการซื้อที่ลดลงในประเทศเศรษฐกิจหลัก


ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ที่ฟื้นตัวในปี 65 จากการเปิดประเทศ ในปีนี้จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ถือว่ายังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและดีขึ้นของตลาดแรงงาน และความต้องการท่องเที่ยวจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่การลงทุนภาครัฐจะยังคงอ่อนแอ เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ใช้เวลานาน


สำหรับปี 67 และปี 68 คาดว่า จีดีพีจะขยายตัว 3.6% และ 3.4% ตามลำดับ โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายนอกอ่อนตัวลง สำหรับศักยภาพการเติบโตในระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งชะลอลงจากกว่า 3.6% ในช่วงปี 53-62


ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด ปี 66 คาดว่าจะกลับมาเกินดุลที่ 2.5% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าขยายตัว 2% ท่ามกลางราคาพลังงานโลกที่เริ่มผ่อนคลาย หนี้สาธารณะในระยะปานกลาง คาดว่า จะขึ้นไปสูงสุดที่มากกว่า 60% ต่อจีดีพีเล็กน้อย


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่ระดับผลผลิตยังไม่น่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด และคาดว่าจะยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพในปี 66 จนถึงปี 68 เพราะไทยยังมีความท้าทายต่างๆ ทั้งราคาพลังงานที่อาจกลับมาสูงขึ้น ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจทำให้การลงทุนภาครัฐหยุดชะงัก ความท้าทายเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับการสะสมทุนที่ต่ำ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง