ธนาคารพาณิชย์ไทยยังแกร่ง ปี64 โกยกำไร 1.81 แสนล้านบาท สินเชื่อโต 6.5%

  • “ธปท.” อวดผลงานธนาคารพาณิชย์ปี 64
  • เงินสำรองทะลัก รับวิกฤติหนัก-ยาวนาน หวั่นทำหนี้เสียปะทุ
  • ฟุ้งมาตรการแก้หนี้ระยะยาวช่วยได้

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.9%เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่8.89 แสนล้านบาท โดยภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564ขยายตัวที่ 6.5%เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว5.1%โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 7.9%เมื่อเทียบกับปีก่อน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวในเกือบทุกประเภทธุรกิจ สะท้อนความต้องการเงินทุนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้โดยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564ค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน จากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLหรือ stage 3) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.98% ต่อสินเชื่อรวม ด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.39%ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 6.62% อย่างไรก็ดีปี 2564ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.6% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.81%จากปีก่อนที่ 0.69%

“ ยอมรับว่าจากวิกฤติที่หนักและยาวนาน มีความไม่แน่นอนสูง การฟื้นตัวไม่เท่าเทียม อาจส่งผลให้มีลูกหนี้บางกลุ่มทยอยเป็นหนี้เสียมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปไม่ไหวจริง ๆ เช่น ลูกหนี้ธุรกิจกลุ่มที่ปิดกิจการ เลิกกิจการหรือติดต่อไม่ได้ เป็นต้น แต่เชื่อว่าจากการบริหารจัดการและความพยายามในการผลักดันให้สถาบันการเงินยังคงช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไปต่อได้ผ่านมาตรการมาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 ก.ย.) ซึ่งมีผลถึงสิ้นปี 2566 จะเป็นกลไกสำคัญ โดยระหว่างนี้ธนาคารและลูกหนี้เร่งเจรจาเพื่อหาทางออก ซึ่งมาตรการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าช่วยลูกหนี้ได้ ไม่เช่นนั้นหนี้เสียน่าจะปรับเพิ่มขึ้นกว่านี้”