ตุรกี ประกาศเปลี่ยนมหาวิหาร “ฮายาโซฟีอา” พิพิธภัณฑ์ชื่อดังเป็น “สุเหร่า” ขณะที่ “สภาโบสถ์โลก” ขอให้ทบทวนคำสั่ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า “เรเปจ ไตยิป แอร์โดอัน” ประธานาธิบดีแห่งตุรกี ประกาศให้มหาวิหาร “ฮายาโซฟีอา” ที่โด่งดังของประเทศตุรกีและเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในฐานะพิพิธภัณฑ์โซเฟีย ให้เป็นสุเหร่าเพื่อให้ชาวมุสลิมใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติทางศาสนกิจ โดยจะเริ่มให้จัดพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามได้ในวันที่ 24 ก.ค. และจะเปิดกว้างต้อนรับทุกคนทั้งชาวตุรกีและชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ศาลสูงของตุรกีได้มีคำพิพากษาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งและมักถูกจัดให้อยู่ในรายการสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลางมีอายุเกือบ 1,500 ปีเป็นพิพิธภัณฑ์และจัดงานแสดงศิลป์ต่างๆ เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย

ท่ามกลางเสียงเตือนจากนานาชาติที่ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่ออนุสรณ์สถานเก่าแก่อันเป็นที่เคารพนับถือของทั้งผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามอย่างมาก

ในอดีตเริ่มต้นจากการเป็นโบสถ์คริสต์

เนื่องจากสถานที่สำคัญดังกล่าวเดิมเคยเป็นโบสถ์ของคริสต์ศาสนา นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นสุเหร่า ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ กับจุดเด่นยอดโดมขนาดมหึมากลางวิหาร และเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์

“ฮายาโซฟีอา” ถูกสร้างให้เป็นโบสถ์ในระหว่างปี ค.ศ. 532-537 โดยจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งไบแซนไทน์ ต่อมาในปี ค.ศ.1453 หลังจากที่จักรวรรดิออตโตมัน สามารถพิชิตจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ 

สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 เปลี่ยนเป็นสุเหร่า

“สุลต่านเมห์เหม็ดที่2” จึงดัดแปลงโบสถ์ให้กลายเป็นสุเหร่า เช่นย้ายระฆัง แท่นบูชา รูปปั้นต่าง ๆ ออก และสร้างสัญลักษณ์ทางอิสลาม เช่น เสามินาเรต แทน 

“สุเหร่าโซฟีอา” ​กลายเป็นสุเหร่าหลักของอิสตันบูลมากว่า 500 ปี และเป็นต้นแบบของสุเหร่าออตโตมันอีกหลายแห่ง เช่นสุเหร่าสุลต่านอาเหม็ด (สุเหร่าสีน้ำเงิน), สุเหร่าเซห์ซาเด, สุเหร่าซือเลย์มานิเย และสุเหร่ารืสเตม ปาชา ในปี ค.ศ. 1935 “ฮายา โซฟีอา” ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ.1934 ตามคำสั่งของ “มุสตาฟา เคมัล อาตาเติร์ก” ผู้ก่อตั้งและประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี และห้ามจัดกิจกรรมทางศาสนาทั้งหมดในสถานที่แห่งนี้ แต่ชาวมุสลิมเรียกร้องมาตลอด ให้ทางการอนุญาตให้จัดพิธีสักการะได้

สภาโบสถ์คริสต์โลกเคลื่อนไหวให้ทบทวนคำสั่ง

ขณะที่ สภาโบสถ์คริสต์โลก (WCC) ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดี เรเปจ ไตยิป แอร์โดอัน แห่งตุรกี เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ก.ค. 2563 เรียกร้องให้ทบทวนคำสั่ง ประกาศเมื่อวันศุกร์ผ่านมา ให้กลับเป็นสุเหร่าอีกครั้งในรอบ 86 ปี

จดหมายของ WCC ระบุว่า ทางสภาฯ รู้สึกเสียใจและผิดหวังต่อการตัดสินใจของ “แอร์โดอัน” อย่างมาก เพราะการเปลี่ยน “ฮาเกีย โซเฟีย” กลับเป็นมุสลิมได้ย้อนคืนสัญญาณการเปิดกว้างของตุรกี เปลี่ยนกลับไปเป็นสัญญาณแห่งการกีดกันกับการแบ่งแยกอีกครั้ง และการตัดสินใจนี้จะสร้างความไม่แน่นอน, ความสงสัย และความไม่เชื่อใจ ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำลายความพยายามทั้งหมดของเราที่จะนำคนต่างความเชื่อมาร่วมโต๊ะเจรจาและร่วมมือกัน

ด้านกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศกรีซ เรียกคำพิพากษาของศาลตุรกีนี้ว่าเป็น “การยั่วยุอย่างเปิดเผย” ต่อโลกที่เจริญแล้ว ประธานาธิบดี “แอร์โดอัน” แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการผลักดันให้ศาสนาอิสลามกลายมาเป็นศาสนาหลักในการเมืองของตุรกี ตลอดเวลา 17 ปีที่อยู่ในการเมืองมา