ดีเดย์ 1 มิ.ย.นี้ ศบค. ปรับยกเลิกกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ด้านคนไทยเข้าประเทศ ไม่ต้องลงไทยแลนด์พาส ผ่านฉลุย!

travel luggage with passenger blur background
  • พร้อมปรับมาตรการการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากเดิมกักตัว 5 วัน และสังเกตอาการ 5 วัน
  • เปลี่ยนเป็นไม่ต้องกักตัว ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 10 วันแทน
  • ปรับมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยปรับลดการตรวจ
  • ผู้เดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีน-ได้รับวัคซีนไม่ครบ สามารถแสดงผลตัวเอทีเคหรือผลตรวจ RT-PCR ภายใน 72 ชม.
  • ลั่นขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค.65

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า วันนี้ (20 พ.ค.65) ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,463 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,439 รายมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,429 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 10 ราย มาจากเรือนจำ 23 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย 

สำหรับผู้ติดเชื้อหายป่วยเพิ่มขึ้น 7,091 ราย อยู่ระหว่างรักษา 58,910 ราย อาการหนัก 1,037 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ510 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 41 ราย เป็นชาย 23 ราย หญิง 18 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 36 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 1 ราย 

มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,401,378 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน4,312,790 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,678 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม525,864,514 ราย เสียชีวิตสะสม 6,297,053 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทิศทางการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงอาการป่วยหนัก และเสียชีวิตขณะนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถือว่าเข้าใกล้สู่การประกาศโรคประจำถิ่นในระยะที่สามเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นยังคงวันที่ 1 ก.ค.ไว้ก่อน เพราะต้องรอดูมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ทั้งการเปิดสถานบันเทิง และการเปิดภาคเรียน ที่จะเป็นตัวแปรว่าเป็นอย่างไร ยอดติดเชื้อมีทิศทางเป็นเช่นไรบ้าง

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบปรับมาตรการการกักตัวในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากเดิมให้กักตัว 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน เปลี่ยนเป็นไม่ต้องกักตัว แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 10 วัน และให้ตรวจเอทีเคเมื่อมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ

อีกทั้งที่ประชุม ศบค. ยังเห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยปรับลดการตรวจในการเข้าราชอาณาจักร ผู้เดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ สามารถแสดงผลตัวเอทีเคโดยแพทย์หรือผลตรวจ RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และยกเลิกการกักตัวในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ แต่หากเดินทางมาถึงแล้วไม่มีผลตรวจโควิด ให้ตรวจเอทีเคที่สนามบิน 

ขณะที่ระบบไทยแลนด์พาสนั้น ยังให้คงเหลือเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น โดยกรอกข้อมูลเพียงแค่ ประวัติการรับวัคซีนการทำประกันวงเงิน 1 หมื่นยูเอสดอลลาร์ และพาสปอร์ต เมื่อกรอกข้อมูลดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วจะได้คิวอาร์โค้ดทันทีขณะที่คนไทยไม่ต้องลงทะเบียนไทยแลนด์พาสแล้ว และยกเลิกการกักตัว โดยให้ตรวจเอทีเคที่สนามบิน หากมีผลเป็นบวกให้ไปพบแพทย์และดำเนินการรักษา แต่หากผลเป็นลบสามารถเข้าประเทศได้เลย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของกลุ่มข้าราชการและนักเรียนทุน จากเดิมที่ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐ เดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นเหตุจำเป็น รวมถึงระงับนักศึกษาที่ได้ทุนในการดูแลของ ก.พ. ในการไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นจึงยกเลิกมาตรการดังกล่าว

“ที่ประชุม ศบค. ยังได้เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 18 ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่1 มิ.ย.-31 ก.ค. จนกว่าจะผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว