ดีอีเอส ชู  30 เมืองอัจฉริยะ สร้างโอกาสการลงทุน 6 หมื่นล้านบาท

  • ลงพื้นที่ จ.ประจวบฯ ผลักดันหัวหินสู่เมืองอัจฉริยะ
  • ติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน
  • เพื่อยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน

 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเมืองและพื้นที่ต่างๆ สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 30 เมืองทั่วประเทศโดยมีการประเมินว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีการสร้างมูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

สำหรับการดำเนินการงานนั้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ( ดีป้า) จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็ได้หารือและประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมการพัฒนาหัวหินสู่เมืองอัจฉริยะ Smart City Hua Hin ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง เท่าเทียม พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์ CCTV และห้องควบคุม เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ ตรวจสอบเมืองให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย ไร้อาชญากรรม

ขณะเดียวกัน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านย่านซื่อ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นตัวแทนสถานศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับมอบหมาย จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ให้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเวศศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) (แผนปฏิบัติการฯ) จำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 จัดให้มีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน) และ กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาระบบจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชนและงานบำรุงรักษา ระยะเวลาดำเนินการทั้งโครงการอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีพื้นที่ดำเนินการตามเป้าหมายเป็นสถานศึกษาจำนวน 1,722 ศูนย์ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ 

“การตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน. อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ห้องสมุดประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่ดำเนินการตามโครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน สู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2567 ซึ่งได้จัดตั้งในพื้นที่ของโรงเรียน กศน. อบต. เทศบาล วัด มัสยิด และพื้นที่ชุมชน ที่มีความพร้อม จำนวน 500 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ” นายชัยวุฒิ กล่าว

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการสดช. กล่าวว่า ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายและแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีบทบาทในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ดิจิทัล บุคลากรสนับสนุน  และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับท้องถิ่น เพื่อลดช่องว่างทางด้านดิจิทัลให้กับชุมชน ให้สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา และด้านอาชีพ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท ในกลุ่มคนทุกกลุ่มที่อยู่ในท้องถิ่น เช่น ผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชน เด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนยังทำหน้าที่ในการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข่าวสาร บริการดิจิทัล ให้กลุ่มเป้าหมายในระดับชุมชนได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัล พร้อมที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนคุณภาพชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างโอกาสและรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากในอนาคต 

ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นดำเนินการในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การสนับสนุนพื้นที่ให้พัฒนาแผนเมืองอัจฉริยะของตนเอง สามารถระบุพื้นที่พัฒนาเมืองโดยมีขอบเขตชัดเจน มองเห็นศักยภาพและปัญหา อีกทั้งสามารถเตรียมความพร้อมเรื่องระบบบริการทั้ง 7 Smarts ได้ตรงตามบริบทของพื้นที่ และวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและด้านดิจิทัล รองรับระบบบริการเมือง รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคประชาชน

นอกจากนี้ ดีป้า ยังมีการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่มีใจต้องการพัฒนาภูมิลำเนามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ผ่านโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (The Smart City Ambassadors) ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เข้าร่วมโครงการ 2 พื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ร่วมฝึกอบรม 2 ราย และมี Ambassadors ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนงานพัฒนาเมือง 2 ราย โดยปัจจุบัน เทศบาลเมืองหัวหิน เป็นหนึ่งในเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ

นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ “เมืองท่องเที่ยวทรงคุณค่าระดับนานาชาติ เกษตรปลอดภัย ด่านสิงขรระเบียงเศรษฐกิจแห่งอนาคต สังคมผาสุกภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจังหวัดมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรที่ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด โดยทางจังหวัดพร้อมสนับสนุนท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่ตามศักยภาพ และส่งเสริมการบูรณาการการทำงาน รวมถึงการบูรณาการข้อมูลที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตของประชาชน และเทศบาลหัวหินถือเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญของจังหวัดในการนำร่องการพัฒนา Smart City 

ของจังหวัด

ส่วนนายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า เทศบาลเมืองหัวหินตั้งเป้าหมายที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย สะอาด น้ำใส ไร้ PM 2.5 โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และตรวจสอบเมืองให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย ไม่มีอาชญากรรม โดยมีแผนที่จะดำเนินการพัฒนาระบบ Smart ต่าง ๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การติดตั้งระบบ CCTV สอดส่องความปลอดภัยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ตั้งเป้าลดอาชญากรรม 50% ติดตั้ง Smart Pole ระบบติดตามคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพคนหัวหินและนักท่องเที่ยว Wired Network ที่ครอบคลุมอำนวยความสะดวกผู้มาเยือนส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมรับมือปัญหาขยะจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นด้วยระบบ GPS Tracking ช่วยบริหารจัดการขยะ ตั้งเป้าลดขยะตกค้างในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80% รวมถึงระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลของเมือง (City Data Platform: CDP) รวมศูนย์ข้อมูลเพื่อการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่และระหว่างท้องถิ่น เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด