ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ฝ่าแรงต้านภาระงบประมาณ

“เงินตามม.28 -พ.ร.ก.กู้เงิน”  รัฐบาลต้องเลือกเพื่อเดินหน้า แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท  ตามลั่นวาจาไว้บนเวทีปราศัยหาเสียง และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ถูกหยิบมาเป็นประเด็นร้อนกันมาก ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ คือ ดร.วิรไท สันติประภพ ,นางธาริษา วัฒนเกส นักวิชาการ และกูรูเศรษฐศาสตร์ เห็นพ้องร่วมกันลงชื่อขอให้รัฐบาล ยกเลิก “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท”​ เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค ไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นภาระงบประมาณในแต่ละปี ไม่ว่าจะใช้เงินจากแหล่งใด ล้วนเป็นภาระงบประมาณทั้งสิ้น ด้วยเงินจำนวนมากกว่า 560,000 ล้านบาท

ขณะที่ประชาชน ต้องการให้รัฐบาลแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท  ตามที่ได้ลั่นวาจาหาเสียงไว้  เพราะในยุคข้าวยากหมากแพง ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกวัน ต้องการเงิน เพื่อมาแบ่งเบาภาระ มาต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ 

นั่นทำให้รัฐบาล “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ประกาศชัดถ้อยชัดคำ ไม่ยกเลิกโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แน่นอน 

แต่จะนำเสียงคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์ มาปรับปรุงเงื่อนไข ให้เกิดความรอบคอบ โดยมอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไปเร่งพิจารณารายละเอียด และนำข้อคัดค้านมาประกอบการพิจารณาด้วย 

ส่วนวงเงิน 560,000 ล้านบาท รัฐบาลจะนำมาจากไหนในการดำเนินการโครงการดังกล่าว  ซึ่งทุกครั้งที่สื่อมวลชน ตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รมช.คลัง รวมถึงคณะรัฐมนตรี(ครม.)  จะได้คำตอบ มีหลายช่องทาง แนวทางในการดำเนินการ และยืนยันว่ามีเงินแน่นอน

ซึ่งจากการสอบถามกูรูเศรษฐศาสตร์ และอดีตข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลังหลายท่าน ระบุตรงกันว่า สุดท้าย เป็นภาระงบประมาณแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล จะแบ่งภาระงบประมาณในแต่ละปีเท่าใด ไม่ว่าจะใช้เงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินคลัง พ.ศ. 2561  หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 

หากใช้เงินตามมาตรา 28 รัฐบาลก็สามารถทำได้ โดยต้องประชุมคณะกรรมการเงินการคลัง ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ด้วยการขยายเพดานการใช้จ่าย จาก 32% เพื่อจะได้มีช่องทางในการใช้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐได้ ด้วยวิธีการกู้ยืมเงินสำรองมาใช้ก่อน แล้วตั้งงบประมาณชดเชยคืนในแต่ละปี

หรือลดเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ  เพื่อรวบรวมเม็ดเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นหาช่องทางออกพ.ร.ก.กู้เงิน

หากออกพ.ร.ก.กู้เงิน  ต้องอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการ  ซึ่งหากกู้เงินจริง ก็สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเพดานหนี้สาธารณะ รัฐบาลชุดก่อน ได้ขยายเพดานไว้ที่ 70% ถือว่ายังมีช่องว่างเหลืออยู่อีก 9% จากปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 61%  

ต้องรอลุ้นรัฐบาล จะใช้่เงินจากแหล่งใด และเลือกแนวทางใด! ไม่นานเกินรอมีคำตอบแน่ เพราะรัฐบาลประกาศชัดเจนแล้วว่า เดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทแน่นอน  

มาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ระบุไว้ว่าตามกฎหมาย 

การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดําเนินการน้ัน ให้กระทําได้เฉพาะกรณี ที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น เพื่อฟื้นฟู หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของ ประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม

ในการมอบหมายตามวรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาภาระทางการคลังของรัฐที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผลกระทบต่อการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายนั้น และแนวทางการบริหารจัดการภาระทางการคลังของรัฐและผลกระทบจากการดําเนินการดังกล่าว

ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกัน ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกําหนด ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรานี้ ไม่ว่าการมอบหมายนั้นจะเกิดขึ้นก่อน พระราชบัญญัติน้ีใช้บังคับหรือไม่ จัดทําประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการท่ีรัฐจะต้อง รับภาระทั้งหมดสําหรับกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการนั้น ๆ และแจ้งให้คณะกรรมการและ กระทรวงการคลังทราบ