ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.65 ฟื้นครั้งแรกรอบ 6 เดือน

  • หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19
  • แต่คนยังกังวลราคาน้ำมัน-สินค้า-ค่าครองชีพพุ่ง
  • คาดปีนี้จีดีพีโตได้แน่ 3.1% อานิสงส์เปิดประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิ.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 41.6 เพิ่มขึ้นจาก 40.2 ในเดือนพ.ค.65 เป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เพราะผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นเล็กน้อย จากสถานการณ์โควิดและมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ รวมถึงธุรกิจกลางคืนกลับมาเปิดปกติ ประกอบกับ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น แม้จะมีความกังวลราคาน้ำมัน ราคาสินค้า และค่าครองชีพที่สูงขึ้น, การระบาดของโควิดที่ยังมีอยู่, ความกังวลผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า และค่าเงินบาทอ่อนค่า

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 35.7 เพิ่มจาก 34.3, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 39.2 เพิ่มจาก 37.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 49.8 เพิ่มจาก 48.5 แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่ดัชนีความเชื่อมั่นยังต่ำกว่าระดับปกติที่ 100

สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทั้งโลกเพิ่มขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, การส่งออกเพิ่มขึ้น และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หากความเชื่อมั่นฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาส 3 ของเป็นต้นไป

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวปลายไตรมาส 3 เป็นต้นไป เพราะคาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยครึ่งปีหลัง 6-8 ล้านคน มีเงินไหลเข้ามามากขึ้น, ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ช่วยผลักดันให้การส่งออกปีนี้ขยายได้ 5-6% ประกอบกับ การเปิดธุรกิจกลางคืน ที่คาดจะเกิดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50,000 ล้านบาท อีกทั้งปลายไตรมาส 3 เป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ทำให้มีเงินสะพัดในต่างจังหวัด และปัจจัยเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โตได้ 4.1% ไตรมาส 4 โตได้ 3.8% และทั้งปีนี้โตได้ 3.1% หรืออยู่ในกรอบ 2.5-3.5%

ส่วนการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศลิตระ 3 บาทนั้น จะทำให้คนออกมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว 5 วันในสัปดาห์หน้า ซึ่งศูนย์ฯเคยประเมินว่า ทุกๆ 1 บาทของราคาน้ำมันเบนซิน จะมีผลต่อจีดีพี 0.1% ถ้าปรับลงลิตรละ 3 บาท จะทำให้คนไทยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อเบนซินได้ถึงวันละ 90 ล้านบาทจากปริมาณการใช้ที่วันละ 30 ล้านลิตร หรือประหยัดได้เดือนละ 2,700 บาท ถ้าลดได้ยาวถึง 6 เดือนจะประหยัดได้ถึง17,000 ล้านบาท ช่วยดึงจีดีพีให้เพิ่มขึ้นได้ 0.15%