ดัชนีดาวโจนส์แดงเถือก ลบกว่า 400 จุด กังวลเศรษฐกิจสหรัฐซบเซา

  • ดัชนีดาวโจนส์ -เอสแอนด์พี 500 ต่ำสุดรอบ 5 สัปดาห์
  • ตัวเลขดัชนีการผลิตต่ำรอบ 10 ปี แนวโน้มการจ้างงานลดต่ำลง
  • จับตาการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน ยุติสงครามการค้า

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ และดัชนีเอสเอ็นพี 500 ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ โดยเมื่อเวลาประมาณ 22.30 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลงอย่างรุนแรง โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 26,124.12 จุด ลดลง 448.92 จุด หรือ -1.69%ด้านดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิท เคลื่อนไหวอยู่ที่ 7,785.77 จุด ลดลง 122.91 จุด หรือ -1.55% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวอยู่ที่ 2,890.11 จุด ลดลง 50.14 จุด หรือ -1.71%

นักลงทุนกังวลผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552 หรือต่ำสุดในรอบ 10 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.2 จากระดับ 49.1 ในเดือน ส.ค.

ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า ภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงตั้งแต่เดือนก.ค. ขณะที่การบริโภค คำสั่งซื้อใหม่ สต็อกสินค้าคงคลังเพื่อการส่งออกและนำเข้า หดตัวลงเช่นกัน เนื่องจากภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลง

ขณะที่ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 135,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ถือเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. และเป็นการจ้างงานที่ชะลอตัวจากที่เพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า ในการประกาศในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 145,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.7%

นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะซบเซา ขณะที่จับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน ขณะที่นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะเจรจาการค้าของจีน ท่ามกลางกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตลาดยังจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายรายในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้