ดัชนีดาวโจนส์ร่วงต่อ พิษสงครามการค้ากระทบผลประกอบการบริษัทในตลาด

  • กังวลผลการเจรจายุติสงครามการค้าไม่คืบ
  • หวั่นทรัมป์เปิดศึกเก็บภาษีนำเข้าจีนรอบใหม่
  • เอกชนระบุกีดกันการค้ากระทบผลประกอบการ

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก วันที่ 17 ก.ค. ปิดติดลบต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลังจากนักลงทุนกลับมามีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของ “สงครามการค้า” อีกครั้ง หลังจากที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐฯ ออหมาระบุถึงการเจรจาทางการค้ากับจีนที่ไม่มีความคืบหน้า และขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนรอบใหม่อีก 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,219.85 จุด ลดลง 115.78 จุด หรือ -0.42% ส่วนดัชนีแนสแด็กส์ คอมโพซิท ปิดที่ 8,185.21 จุด ลดลง 37.59 จุด หรือ -0.46% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลงมาปิดต่ำกว่า 3,000 จุด โดยปิดที่ 2,984.42 จุด ลดลง 19.62 จุด หรือ -0.65% ซึ่งถือเป็นเปอร์เซนต์การลดที่สูงที่สุดของเอสแอนด์พี 500 ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบจากผลของการกีดกันทางการค้าในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการร่วงลงของหุ้นกลุ่มขนส่ง หลังจากบริษัทซีเอสเอ็กซ์ คอร์ป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางรถไฟรายใหญ่ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอ ที่ระบุว่า เป็นผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

ขณะเดียวกัน รายงานของเฟดยังแสดงผลในด้านเดียวกัน โดยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือ “Beige Book” ซึ่งระบุว่า ภาคเอกชนของสหรัฐยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้า และมีบริษัทจำนวนหนึ่งได้ย้ายสายการผลิตที่ใช้วัสดุนำเข้าจากจีน ไปยังประเทศอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อผลประกอบการที่จะประกาศออกมาเพิ่มขึ้น

หุ้นซีเอสเอ็กซ์ ร่วงลง 10.3% ซึ่งเป็นการดิ่งลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรไตรมาส 2 ที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ และยังได้รับลดตัวเลขคาดการณ์รายได้ตลอดปี 2562 โดยระบุว่า การกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้การใช้บริการด้านการขนส่งทางรถไฟปรับตัวลดลงในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ และส่งผลให้หุ้นกลุ่มขนส่งลดลงตามด้วย

ขณะที่หุ้นอเมซอน ปรับตัวลง 0.9% หลังจากมีรายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) จะทำการสอบสวนบริษัทอเมซอนเพื่อพิจารณาว่า การที่อเมซอนใช้ข้อมูลทางการค้าจากผู้ค้าปลีกอิสระที่จำหน่ายสินค้าบนเว็บไซต์ของบริษัท ถือเป็นการละเมิดกฎระเบียบของ EU หรือไม่