ดัชนีดาวโจนส์บวกต่อ 40 กว่าจุด แรงซื้อแรงขายผันผวน

.มีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง นักลงทุนมองดัชนีหุ้นเข้าสู่จุดต่ำสุดแล้ว
.ตลาดยังคงกังวลภาพรวมเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ หลังธนาคารโลกลดประมาณการเศรษฐกิจโลก
. นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ ประชุมเฟด 14-15 มิ.ย.

เมื่อเวลาประมาณ 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ32,965.41 จุด เพิ่มขึ้น 49.63 จุด หรือ +0.15% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 12,139.24 จุด เพิ่มขึ้น 77.87 จุด หรือ +0.65%
ชขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,136.76 จุด เพิ่มขึ้น 15.33 จุดหรือ +0.37%

บรรยากาศการซื้อขายหุ้นในตลาดสหรัฐฯ ยังคงผันผวน สลับกันทั้งในแดนบวกและลบ โดยนักลงทุนส่วนหนึ่งมองว่าัชนีตลาดหุ้นสหรัฐลดลงไปมากและใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ทำให้มีแรงช้อนซื้อหุ้นเข้ามา ขณะเดียวกันความไม่ชัดเจนของภาพรวมเศรษฐกิจและดอกเบี้ยทำให้มีแรงขายสวนออกมาเพื่อลดความเสี่ยงและทำกำไร

ทั้งนี้ ธนาคารโลกออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในวันนี้ โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้สู่ระดับ 2.9% จากเดิมที่ระดับ 4.1% โดยได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน ซึ่งได้ซ้ำเติมความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐลดลง 19.1% สู่ระดับ 8.71 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งแตะระดับ 1.098 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการนำเข้าลดลง 3.4% สู่ระดับ 3.397 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.5% สู่ระดับ 2.526 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ราคาหุ้นของทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ ดิ่งลงกว่า 6% หลังประกาศปรับลดคาดการณ์อัตรากำไรจากการดำเนินงานสู่ระดับ 2% ในไตรมาส 2 ต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะใกล้เคียงไตรมาสแรกที่ระดับ 5.3% ทาร์เก็ตยังประกาศมาตรการในการลดสต็อกในคลังสินค้าที่ไม่จำเป็น โดยมีการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า หลังมีการเปิดเผยมูลค่าสต็อกสินค้าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 43% ทั้งนี้ การปรับตัวลงของหุ้นทาร์เก็ตในวันนี้ ได้ฉุดให้ราคาหุ้นอื่นๆในกลุ่มค้าปลีกร่วงลงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ที่ยังอยู่ในระดับสูงเหนือระดับ 3% ซ่ึ่งจะส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น และจะทำให้บริษัทต่าง ๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน แต่ก็เป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันศุกร์นี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

นอกจากนี้ ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ