“ดร.สัญลักข์”มาวินนั่งแท่น เอ็มดีบขส.คนใหม่-ขุดที่ทำเลทองปั้น รายได้อุ้มองค์กรขาดทุน

“ดร. สัญลักข์”มาวินนั่งแท่น เอ็มดี บขส.คนใหม่ มั่นใจเดือน มกรา 64 เข้าบริหารงานลุยไฟเต็มตัว แถมเจอโจทย์ยากรออยู่ทั้ง ขาดทุน โควิดซัด คนเดินทางน้อย เตรียมพลิกกลยุทธ์หารายได้นำทำเลทองกลางเมือง “สามแยกไฟฉาย-เอกมัย-บขส.ชลบุรี”ปั้นรายได้อุ้มองค์กร

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. คนใหม่ ว่า ขณะนี้ขั้นตอนได้สิ้นสุดแล้วและได้ตัวบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง คาดว่าภายในเดือน ม.ค.64นี้จะมีการเซ็นสัญญาและเริ่มงานทั่นที ซึ่ง ผู้จัดการใหญ่ บขส.คนใหม่ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้ถือว่ามารับงานที่ท้าทายมาก ท่ามกลางที่ บขส.ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 43ล้านบาท/เดือน ขณะที่สถานการณ์การขนส่งสาธารณะในทุกรูปแบบมีการปรับตัว ท่ามกลางการแข่งขันสูง และต้องมีการปรับองค์กรที่มีมานานให้สามารถดำเนินธุรกิจในภาะปัจจุบันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดรายได้มากที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทาง บขส.ได้ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.มาก่อนหน้า โดยมีผู้สมัคร 2 ราย แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด จึงต้องมีการเปิดรับสมัครอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 63 ถึง  6 พ.ย.63  ล่าสุด ทางคณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด คนใหม่ ที่มีนายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) เป็นประธาน ได้มีข้อสรุปบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว โดยที่ประชุมคณะกรรมสรรหาได้สรุปและเสนอชื่อ รองศาสตราจารย์ ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต ให้บอร์ด บขส. อนุมัติแล้ว ซึ่งขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาและเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ภายในต้นเดือน มกราคม 64 นี้

สำหรับแนวทางหลักที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. คนใหม่ จะเข้ามาดำเนินงานนั้นต้องบอกว่าเป็นการเข้ามาท่ามกลางธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ปริมาณการเดินทางผู้โดยสารลดลง หากมีการเปรียบเทียบการเดินทางตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีผู้โดยสารหายไปกว่า 60% โดยพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยที่ 30,000 คน/วัน จากเดิมมีปริมาณเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 คน/วัน ส่วนยอดคืนตั๋วการเดินทางก็มีมาต่อเนื่อง ขณะที่การทำการแผนธุรกิจ-การตลาด ก็ยากขึ้น เนื่องจากขณะนี้การเดินทางจะมีสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์แอร์ไลน์ เข้ามาเป็นคู่แข่งทั้งเรื่องของราคา และความเร็ว ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด19 ทำให้การเดินทางมีข้อจำกัด และคนมีพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนั้นจะต้องเข้ามาดำเนินการในเรื่องของการศึกษาจัดหารถเข้ามาดำเนินการที่ใช้พลังงานลดมลภาวะเป็นพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย และที่สำคัญจะต้องเข้ามาดำเนินงานในเรื่องของการหารายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดรายได้มากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบัน บขส. จะมีพื้นที่ที่อยู่ในจุดสำคัญที่สามารถพัฒนาให้เกิดมูลค่าได้ เบื้องต้นมี 3 แปลงหลักๆ คือ พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออกเฉียงเหนือ (เอกมัย) ,พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเก่า บริเวณสามแยกไฟฉาย  และพื้นที่สถานีขนส่งบขส.ชลบุรี เก่า ซึ่งต้องมาดูว่าจะมีรูปแบบอย่างไรในการพัฒนาที่จะสร้างรายได้ให้กับ บขส. 

ขณะเดียวกันก็มีโจทย์ใหญ่ที่จะต้องดำเนินการทั้งเรื่องของ สถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ ที่จะหมดสัญญาในปี 68 ว่าจะยังคงใช้ที่เดิม หรือ เปลี่ยนสถานที่ ส่วนสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ จะยังคงเดิม หรือ ย้ายบางส่วนมาที่หมอชิต1 หรือหากอยู่หมอชิตใหม่จะมีการเชื่อมต่อกับ สถานีกลางบางซื่ออย่างไรบ้าง