“ฐาปน” แม่ทัพใหญ่ไทยเบฟฯ ลั่นเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดได้ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายในงานสัมมนางาน “GC CIRCULAR LIVING SYMPOSIUM 2020 : TOMORROW TOGETHER” (จีซี เซอร์คูลา ลิฟวิ่งซิมโพเซียม 2020 : ทูมอร์โร ทูเก็ทเตอร์) ที่จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดยกล่าวในช่วงหัวข้อ Leaders on Sustainability in Action ว่า วิสัยทัศน์ของไทยเบฟฯ คือเราใส่ใจในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ก็เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม แน่นอนก็ต้องมีการใช้น้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนทางบริษัทก็จะทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อคงไว้ซึ่งแหล่งน้ำที่มีคุณภาพ และมีน้ำตลอดไม่แห้งขอดไป ซึ่งเราใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อดำเนินธุรกิจ ดังนั้นก็ต้องดูแลเรื่องของแหล่งน้ำธรรมชาติให้ดีด้วย

ทั้งนี้ในเรื่องของการจะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนให้ครบวงรอบได้นั้น ลำพังแค่องค์กรใดองค์หนึ่ง หรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ลงมือทำแค่ที่เดียว ก็คงจะไม่สำเร็จ สิ่งสำคัญคือต้องมีการร่วมมือร่วมใจกัน ทำกันในแบบทุกภาคส่วน 

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

โดยในส่วนของไทยเบฟฯ ก็ได้ร่วมทำกับคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ที่ต่างละคนมีความเชี่ยวชาญ และความถนัดที่หลากหลาย โดยจะมาพูดคุยกันในสิ่งที่เขารู้เราไม่รู้ และสิ่งที่เรารู้เขาไม่รู้ เพื่อแชร์ไอเดียซึ่งกันและกัน ว่าสิ่งไหนที่ปรับลดได้เพื่อให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

อาทิ ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ที่บริษัทมีการใช้เป็นจำนวนมาก ก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อยสลายในธรรมชาติได้ หรือสามารถนำไปทำประโยชน์ในด้านอื่นๆเพิ่มได้ อย่างเช่นในปัจจุบัน ก็ได้มีการนำขวดพลาสติก (PET) มาพัฒนาเป็นเสื้อผ้า ผ้าม่าน ปลอกหมอน เป็นต้น โดยไปผ่านกระบวนการผลิต และปั่นออกมาเป็นเส้นใยพลาสติก แล้วนำไปถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม

นายฐาปน กล่าวว่า อย่างของไทยเบฟฯ ก็มีการนำเส้นใยที่ได้จากขวดพลาสติกไปผลิตเป็นผ้าห่ม เพื่อแจกให้ก็ประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน ในโครงการต้านภัยหนาว ที่บริษัทจัดต่อเนื่องมาโดยตลอด

“หัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เต็มระบบ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน อีกทั้งประชาชนคนไทยทุกคน โดยเริ่มจากการหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมหรือนิสัยของเราก่อน อาทิ แยกขยะที่บ้าน ลดการใช้ถุงพลาสติก ใช้ภาชนะใส่อาหารที่ใช้ซ้ำได้ ซึ่งแน่นอนอาจทำให้เรารู้ไม่สะดวกสบายในช่วงปรับเปลี่ยน แต่หากทำไปต่อเนื่องก็จะเคยชิน ซึ่งผลที่ตามมาจะเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเราเอง และกับโลกอีกด้วย”