ช่วยธุรกิจ “ร้านอาหาร”:สหรัฐ vs ไทย

หลังจากที่โควิด-19 รอบที่ 3 รุนแรงขึ้นมาก ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในหลักพัน หรือบางวันมากกว่า 2 พันคนต่อเนื่องมาแล้วประมาณ 30 วันต่อเนื่อง ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เฉพาะรอบนี้ทะลุ 60,000 คน และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แน่นอนว่า การสั่งลดเวลาการให้บริหารของห้่างร้านและประกาศห้่ามการนั่งกินในร้านอาหาร เป็นหนทางที่ต้องดำเนินการเพื่อลดการแพร่ระบาด โดยให้ร้านอาหารสามารถที่จะเปิดขายกลับบ้าน และส่งอาหารตามบ้านเท่านั้น  ซึ่งในระบาดครั้งนี้ รัฐบาลประกาศห้ามนั่งทานอาหารที่ร้านเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มที่มีการระบาดรุนแรง

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ประกาศเป็นการทั่วไปทั้งประเทศ แต่จำนวนร้านอาหารที่กระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่ระบาดรุนแรง หรือสีแดงเข้มมีจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง การดำเนินมาตรการดังกล่าว จึงกระทบร้านอาหารจำนวนมาก และแน่นอนว่า จำนวนแรงงานที่มากกว่า

นอกจากนั้น ผลกระทบของคำสั่งห้ามนั่งในร้าน จากการระบาด 2 รอบที่ผ่านมา และการปรับพฤติกรรมของคนไทยส่วนหนึ่งที่หันมาทดลองทำอาหารเองที่บ้าน หลังจากต้องทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน ทำให้ยอดขาย และฐานการเงินของร้านอาหารจำนวนมากอยู่ในภาวะที่แย่ลงมาก

โดยจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านม พบว่า ร้านอาหารจำนวนหนึ่งระบุว่า มีสภาพคล่องที่จะเปิดดกิจการต่อได้ไม่ถึง 3 เดือน ในขณะที่คาดว่าการแพร่ระบาดระลอกนี้อาจจะต้องใช้เวลายาวนานในการควบคุมการแพร่ระบาด

สมาคมภัตตาคารไทย ประเมินความเสียหายจากคำสั่งห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ในพื้นที่สีแดงเข้มในครั้งนี้ ไว้ที่ประมาณ วันละ 1,400 ล้านบาท หรือเดือนละ 42,000 ล้านบาท 

นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง ใน 3 ด้าน คือ 1.อัตราการจ้างงาน กรณีดังกล่าวจะมีผลพนักงานตกงานทันทีเป็นจำนวนมาก  2.ผลกระทบต่อเนื่องกับสินค้าภาคการเกษตรกร ซึ่งร้านอาหารต้องใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรกรจำนวนมหาศาลซึ่งจะต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง จะมีผลทำให้รายได้ของภาคเกษตรกรลดลงเช่นกัน 3.จะมีผลกระทบต่อการเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินประกันสังคมของภาครัฐบาล

ขณะเดียวกัน “ธุรกิจร้านอาหาร” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เรียกร้องมาตลอดว่า ไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมจากมาตรการคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล และที่่ผ่านมา ธุรกิจได้ดิ้นรนด้วยกู้ยืมเงิน หรือขอสินเชื่อใหม่มาประคองฐานะจำนวนมาก ทำให้เกิดภาระต่อเนื่องในอนาคต

ดังนั้น ท่ามกลางการประกาศทุ่มเงินจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับ “ร้านอาหาร” ในลักษณะเงินให้เปล่าของนายโจ ไบเดน  ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้มีข้อเรียกร้องอีกครั้งให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยตรงกับธุรกิจร้านอาหารของไทย เพื่อให้สามารถประคองตัวผ่านวิกฤตโควิดครั้งนี้ไปให้ได้

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก President Joe Biden เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประกาศโครงการ “กองทุนเยียวยาธุรกิจร้านอาหาร” (Restaurant Revitalization Fund) โดยจะให้เงินกับธุรกิจร้านอาหารเทียบเท่ากับรายได้ที่หายไปในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยนายไบเดน โพสต์ข้อความระบุว่า “ธุรกิจร้านอาหารให้งานแรกกับชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งเคยทำงานในร้านอาหารในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต นี่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างโอกาสให้กับผู้จัดการชนกลุ่มน้อยได้มากกว่าอุตสาหกรรมใดๆ นี่เป็นอุตสาหกรรมที่พนักงานทำงานกันเหมือนครอบครัว และส่วนมากก็เป็นครอบครัวจริงๆ”

ขณะที่โครงการงบประมาณเยียวยาร้านอาหาร จะมาจาก โครงการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจ (American Ruscue Plan) จะบรรเทาผลกระทบโดยตรงให้กับร้านอาหาร และธุรกิจอาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บาร์ เบเกอรี แผงขายอาหาร รถขายอาหาร และบริการจัดเลี้ยง 

โดยจะจำนวนเงินความช่วยเหลือที่จะให้จะคิดรายได้จากฐานภาษีที่ร้านอาหารจ่ายให้รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา 

กำหนดวงเงินช่วยเหลือสูงสุด 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อธุรกิจ โดยเตรียมวงเงินช่วยเหลือในส่วนนี้ทั้งสิ้น  28,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนั้น หากย้อนกลับไปช่วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐฯ เคยได้ให้ความช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหาร ในลักษณะของเงินฉุกเฉินเพื่อช่วยสภาพคล่องมาแล้วเช่นกัน โดยให้เป็นเงินช่วยเหลือในลักษณะเดียวกับ การให้เงินช่วยเหลือประชาชนชาวสหรัฐทุกรายรายละ 1,200 เหรียญสหรัฐ 

โดยได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ร้านอาหารทุกแห่ง ในทุกสาขาเป็นเงินในเบื้องต้น 10,000 เหรียญสหรัฐฯ  เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่องกรณีฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลไทยนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจงว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อนได้เตรียมไว้ 2 มาตรการ วงเงินกว่า 3.5 แสนล้านบาท ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบธุรกิจให้เข้าถึงสินเชื่อ ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ในช่วง 2 ปีแรก 

อีกมาตรการคือการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นขอโอนทรัพย์สินหลักประกัน มาชำระหนี้พร้อมมีสิทธิเช่าทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป และมีสิทธิซื้อทรัพย์สินคืนได้ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ ยังมาตรการทางภาษีขยายเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเป็น 30 มิ.ย.64   

ทั้งนี้ นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง ให้ความเห็นว่าว่า รัฐบาลอาจจะกังวลในการช่วย “ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง” เป็นการเฉพาะเจาะลง เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ และเลือกปฎิบัติ 

โดยที่ผ่านมา ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเช่นกัน 

นอกจากนั้น ณ วันนี้ งบประมาณในการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาลกำลังเหลือน้อยลงทุกที และการกู้ยืมก้อนใหม่มีข้อจำกัดในหลายเรื่อง 

ดังนั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ยังคงลากยาวออกไป จาก 2 เดือน เป็น 3 เดือน หรืออย่างช้าที่สุด เราควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายใน 6 เดือนนับจากเดือน เม.ย. คงต้องวัดใจกันระหว่างภาคธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร และรัฐบาลว่า “ใครจะไปก่อนกัน”

#Thejournalistclub #โควิด19#ร้านอาหาร#เศรษฐกิจคิดง่ายๆ