ชวพม.เปิดเวทีระดมสมอง หนุนนโยบาย “สนธิรัตน์” ผุดโรงไฟฟ้าชุมชน

  • กฟภ.เสนอตั้งบริษัทไฟฟ้าประชารัฐ ลุยสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน
  • ใช้เชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน-เศษวัสดุเหลือใช้
  • หวังสร้างรายได้-ลดรายจ่ายให้ประชาชนฐานราก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.) ได้จัดงานเสวนา “ชวพม…ชวนคุย เรื่อง  : โรงไฟฟ้าชุมชน…ประชาชนได้อะไร?”  เป็นเวทีระดมสมองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอนายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน  นำไปประกอบแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนของรัฐบาลต่อไป   โดยนายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)  กล่าวว่า   ว่า  นโยบายการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนฐานรากนั้นถือเป็นนโยบายที่ดี ดังนั้นนิยามโรงไฟฟ้าชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน โดยรูปแบบการลงทุนที่เสนอคือ ตั้ง เป็นบริษัท ไฟฟ้าประชารัฐ จำกัด  ที่ร่วมทุนระหว่างรัฐ 40% และบริษัทชุมชนประชารัฐ 60%

สำหรับหน่วยงานรัฐที่จะมาร่วมลงทุนนั้นได้แก่ รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน กฟภ. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น ส่วนบริษัทชุมชนประชารัฐนั้นก็จะมาจากวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะประกอบด้วยสมาชิกในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คนไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกันเป็นต้น ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ควรจะใช้เชื่อเพลิงจากพืชพลังงานที่ปลูกในชุมชน เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร  เป็นโรงไฟฟ้าขนาดราว 1-3 เมกะวัตต์ ราคาค่าไฟที่รับซื้อเฉลี่ย 5.22-5.84 บาทต่อหน่วย เงินลงทุนขนาด 2-3 เมกะวัตต์อยู่ที่ 222-390 ล้านบาท ซึ่งจากการประเมินศักยภาพสายส่งจะสามารถรองรับการผลิตไฟชุมชนได้ทั้งหมดทั่วประเทศ 4,000เมกะวัตต์หรือคิดเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนได้ราว 1,563 แห่งแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพขนาด 1-3 เมกะวัตต์ 564 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3 เมกวัตต์ 999 แห่ง แต่ระยะแรกคาดว่าจะเกิดได้ราว 700 เมกะวัตต์

” ไฟที่ผลิตได้ จ่ายให้ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ ก็ต้องกันพื้นที่ไว้ เช่น พื้นที่ปลูกข้าว ก็ต้องกันไว้ให้ปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ ซึ่งกรณีโรงไฟฟ้าชุมชน 1 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ปลูก 10 ไร่ก็จะทำให้เกิดรายได้เฉลี่ยต่อคัวเรือนหลังหักค่าใช้จ่ายราว 159,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เป็นต้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือจะต้องมีการจัดโซนนิ่งรับซื้อเชื้อเพลิงเฉพาะในชุมชนก่อน และประกันราคารับซื้อเชื้อเพลิงจากชุมชน”

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP)ชีวมวล กล่าวว่า การดำเนินงานจะต้องมีกฏหมายรองรับโดยรูปแบบลงทุนคือชุมชน 30% เอกชน 70% และเชื้อเพลิงก็จะต้องไม่ใช้พืชเกษตรที่ได้จากการแปรรูปแล้วเช่น แกลบจากโรงสีข้าว กากอ้อยจากโรงงานน้ำตาล โดยต้องเน้นใช้จากเศษวัสดุทางการเกษตรที่ไม่เป็นเชิงพาณิชย์มาก่อนเช่น ซังข้าวโพด ใบอ้อย ฟางข้าว ฯลฯ โดยราคารับซื้อไฟควรอยู่ที่มากกว่า 4.24 บาทต่อหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าไม่ควรจะเกิน 3 เมกะวัตต์ลงทุนราว 280 ล้านบาทต่อ 3 เมกะวัตต์

นายรังสฤษฎ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชนควรเน้นที่ชุมชนไม่มีไฟใช้และสายส่งไปไม่ถึงเป็นหลักและควรให้ชุมชนเป็นเจ้าของ 100% โดยนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานหรือกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้ามาสนับสนุนจากนั้นจึงทยอยจ่ายคืน เป็นต้น