จับตา “ยูเค” หลังปิดดีลข้อตกลงการค้ากับ “อียู” กรณีเบร็กซิท

  • ความท้าทายใหม่ของประเทศจะฟูหรือฟุบเมื่ออยู่ลำพัง
  • หลังคาดการณ์จีดีพีมีแนวโน้มลดลงทั้งระยะสั้นและยาว
  • การขนส่งสินค้าข้ามแดนส่อวุ่นวายเหตุต้องตรวจสอบเข้ม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ภายหลังจากสหราชอาณาจักร (ยูเค) และสหภาพยุโรป (อียู) สามารถสรุปข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันได้แล้ว จากกรณีที่ยูเคออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิท) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งตามกระบวนการ ยูเคต้องนำเสนอรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน คาดว่า จะมีการประชุมสภาวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ส่วนอียู จะเสนอให้รัฐสภาของอียูของเห็นชอบและให้สัตยาบันด้วย คาดว่า จะเกิดขึ้นได้ราวต้นปี 64 ภายหลังสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ในสิ้นปีนี้ 

การแยกตัวออกจากอียู และการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันนี้ ถือเป็นความท้าทายใหม่ของบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรียูเค ที่จะพิสูจน์ว่า ยูเคจะสามารถเติบโตได้หรือไม่ เมื่ออยู่เพียงลำพัง นอกเหนือจากปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่ ทั้งการที่สกอตแลนด์จะขอถอนตัวออกจากยูเค ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก และปัญหาทางการเงิน 

สำหรับข้อตกลงดังกล่าว จะทำให้ภาคธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่ายมีอิสระในการทำธุรกิจมากขึ้น โดยในส่วนของการค้าสินค้า จะเปิดเสรีระหว่างกัน และไม่กำหนดโควตานำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 เป็นต้นไป ส่วนสินค้าบริการ หรือธุรกิจบริการด้านการเงิน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของเศรษฐกิจยูเค จะยังไม่เปิดเสรีเช่นเดียวกับสินค้า  

ขณะที่ภาคธุรกิจต้องประสบกับปัญหาการตรวจสอบสินค้าตามแนวชายแดน ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจก่อนหน้านี้ พบว่า ยังไม่มีการเตรียมพร้อมใดๆ เลย ส่วนผู้บริโภคในไอร์แลนด์เหนือ คาดว่า อาจประสบปัญหาขาดแคลนสินค้า เพราะบริษัทต่างๆ ต้องถูกตรวจสอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนอย่างเข้มงวด และต้องจัดเตรียมเอกสารต่างๆ จำนวนมาก 

ในสถานการณ์เลวร้ายสุด รัฐบาลยูเคออกโรงเตือนว่า การตรวจสอบการผ่านแดนที่เข้มงวด อาจทำให้มีรถบรรทุกเข้าแถวยาวเหยียดรอการตรวจสอบมากถึง 7,000 คัน ซึ่งน่าจะยาวจากท่าเรือโดเวอร์ไปจนถึงพระราชวังเวสท์มินสเตอร์เลยทีเดียว แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยูเคถูกทดสอบกรณีนี้แล้วจากการที่ฝรั่งเศสปิดพรมแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้รถบรรทุกหลายร้อยคันติดอยู่ที่ด่าน ที่จะมุ่งหน้าไปโดเวอร์ 

นอกจากนี้ การถอนตัวออกจากอียู จะทำให้ธุรกิจการเงินถูกจำกัดการทำธุรกิจ เพราะจะมีข้อจำกัดเรื่องหนังสือเดินทาง จากเดิมในช่วงที่เป็นสมาชิกอียู สามารถเดินทางไปทุกประเทศสมาชิกอียูได้ ซึ่งจะส่งผลให้กรุงดับบลิน นครแฟรงเฟิร์ต อัมสเตอร์ดัม และปารีส จะสามารถปลดแอกออกจากการลอนดอน ศูนย์กลางทางการเงินของอียูได้ และส่งผลให้ธุรกิจการเงินต่างๆ ตั้งแต่บริษัทเจพี มอร์เกน เชส ไปจนถึงโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อาจถอนการลงทุน ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีพนักงานมากถึงราว 7,500 คน ออกจากยูเคภายหลังจากเบร็กซิท  

การถอนตัวออกจากอียู อาจทำให้เศรษฐกิจของยูเคได้รับผลกระทบ แม้ในระยาว อาจขยายตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม คาดการณ์ว่า การแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง อาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของยูเคลดลง 1.5% ในปี 64 แต่ในระยะยาว หรือในอีก 10 ปีข้าหน้า จีดีพีจะลดลงปีละ 0.5% ซึ่งน้อยกว่าการลดลงกรณีที่ยูเคยังอยู่กับอียู 

ส่วนค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอ่อนค่ากว่าความเป็นจริง ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ในปีนี้ มีผลดำเนินงานแย่ที่สุดในยุโรป 

แดน แฮนสัน นักเศรษฐซศาสตร์ กล่าวว่า คำถามสำคัญคือ บริษัทต่างๆ ปรับตัวรองรับข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 อย่างไร การขาดการเตรียมความพร้อม อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น หรือในช่วงไตรมาสแรกของปี 64 ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจที่เสียหายจากการระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว ต้องเสียหายหนักขึ้น 

ทั้งนี้ ภายใต้ความตกลงดังกล่าว ที่ถือเป็นความตกลงทางการค้าทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น จะมีความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พลังงาน ความมั่นคง และการขนส่ง ไม่มีการกำหนดภาษีระหว่างกัน  ไม่มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ยูเคจะสามารถนำอำนาจอธิปไตยกลับมาได้ เช่น อำนาจอธิปไตยเหนือน่านน้ำของประเทศ แต่จะมีระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน 5 ปีครึ่งในการควบคุมประมง โดยสิทธิประมงของยูเค จะเพิ่มเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 และกรณีที่มีการบังคับใช้ หรือข้อพิพาทในความตกลงนี้ จะไมอยู่ภายใต้อำนาจตุลาการของอียู แต่สามารถกำหนดระบบของตนเอง โดยใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ รวมถึงยูเค ยังมีอำนาจอธิปไตยในการเจรจาทำความตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ได้อีก