คลัง เร่ง กอช. เพิ่มสมาชิกการออม หลังขยายเพดานสบทบ-เพิ่มเงินยามเกษียณ

  • กอช. มุ่งสร้างบำนาญให้ประชาชนอาชีพอิสระ ทุกจังหวัดมีเงินออมยามเกษียณ
  • ปัจจุบันแรงงานนอกระบบไม่เป็นสมาชิก 16 ล้านคน
  • จับมือมหาดไทย ชักชวนประชาชนออมเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2548 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งประเทศ และจากอัตราการเกิด  ที่ลดลง ประกอบกับประชากรมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของประชากรสูงอายุ  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ   มีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หรือมีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ในปี 2577  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว ส่งผลให้มีประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงควรมีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการออมเงินระยะยาวให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเกษียณ

การออมเพื่อการเกษียณเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยรัฐบาลได้มีนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐในการพัฒนาระบบการออมให้มีประสิทธิภาพและเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี    (พ.ศ. 2561 – 2580) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดยกำหนดกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ การมีระบบการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้หลังวัยเกษียณที่เพียงพอและครอบคลุมในกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมถึงแผนระดับรองที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้แก่ แผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ตลอดจน แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมาย  ให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงิน สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน รวมถึงมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต

สำหรับแรงงานในระบบมีการออมเงินภาคบังคับตามกฎหมายผ่านกองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีระบบการออมภาคสมัครใจรองรับ โดยสามารถส่งเงินออม ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติหรือกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการออมของกลุ่มแรงงานนอกระบบยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันยังมีแรงงานนอกระบบ อีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ โดยในปี 2565 พบว่า แรงงานนอกระบบ 29.5 ล้านคน มีการออมเพื่อการเกษียณ 13.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แบ่งเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายประกันสังคม จำนวน 10.9 ล้านคน และสมาชิก กอช. จำนวน   2.5 ล้านคน จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณอีก 16.1 ล้านคน หรือร้อยละ 55 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

การส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีการออมเพื่อการเกษียณที่เพียงพอ จึงเป็นภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน ซึ่ง กอช. เป็นกองทุนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออม และสร้างหลักประกันทางด้านรายได้ในยามชราภาพให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งสร้างวินัยการออมให้ประชาชนคนไทยตั้งแต่วัยเด็กให้สามารถเข้าถึงระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุอย่างทั่วถึง

ที่ผ่านมา กอช. ได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเพิ่มจำนวนสมาชิก และส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด สถาบันการเงินของรัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หน่วยงานภาคีเครือข่าย และหน่วยงานอื่น ๆ ส่งผลให้จำนวนสมาชิก กอช. เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคน ในปี 2558 เป็น 2.5 ล้านคน ในปี 2565 เงินกองทุนเพิ่มจาก 1,155 ล้านบาท                ณ สิ้นปี 2558 เป็น 11,669 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 

กอช. นับว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ผู้มีงานทำ เด็กและเยาวชน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งประชาชนสูงวัย โดยที่ผ่านมา กอช. ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระกับ กอช. ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ Facebook Live และช่องทางออนไลน์อื่น ๆ รวมทั้งการจัดทำโครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. โดยทำความตกลงและความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษาเข้าใจการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล ส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการลงทุนให้กับนิสิต นักศึกษา ทั้งการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาบรรจุเนื้อหาการวางแผนทางการเงินและการลงทุนในวิชาศึกษาทั่วไป (General Education, GenEd) การจัดบรรยาย การอบรมให้ความรู้ ตลอดจนอบรมทักษะทางการเงินให้แก่ ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของ กอช. สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ต้องการให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงินและเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน รวมถึงมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต  แม้ว่าที่ผ่านมา กอช. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการขับเคลื่อนการหาสมาชิกอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ

กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบ จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกจาก 13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้สมาชิกส่งเงินออมได้มากขึ้น และปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาลจากเดิม 600 – 1,200 บาทต่อปี ตามช่วงอายุของสมาชิก เป็น 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุของสมาชิก เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก และสมาชิกทุกช่วงอายุมีการออมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน จากเดิมประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม ซึ่งการปรับเพิ่มจำนวนเงินสะสมและจำนวนเงินสมทบดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนการออมของแรงงานนอกระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มแรงจูงใจในการออม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ โดยเฉพาะส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนมีการออมเพื่อการเกษียณเร็วขึ้น 

ในส่วนของ กอช. ภารกิจสำคัญ ในระยะต่อไปยังคงต้องมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการมีระบบการออมเพื่อการเกษียณอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กอช. ก็ควรพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับทั้งสมาชิกใหม่และสมาชิกปัจจุบัน พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ และสร้างวินัยการออมให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง

โดยการดำเนินการในระยะต่อไป กอช. มีแผนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1  มุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าของการออมผ่าน กอช. โดยมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ของ กอช. ให้เป็นที่รู้จักของประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกและเชิงรับ เพื่อสนับสนุนพันธกิจของ กอช. และเสริมสร้างค่านิยมสังคมการออม

ยุทธศาสตร์ที่ 2  พัฒนาการตลาดให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่สมาชิก (Customer Centric)  โดยมุ่งเพิ่มยอดสมาชิกใหม่กระตุ้นการออมสมาชิกเก่าและสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิกจากการรับบริการจาก กอช. 

ยุทธศาสตร์ที่ 3  บริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง โดยปรับปรุงกฎหมายและการบริหารเงินทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกและสร้างโอกาส ความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว

ยุทธศาสตร์ที่ 4  ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกและเพิ่มผลิตภาพขององค์กร โดยเตรียมความพร้อมของเทคโนโลยีและฐานข้อมูลภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 5  ยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการภายในองค์กร  โดยการพัฒนาองค์กรทั้งในเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการ การส่งเสริมสมรรถนะภายในองค์กร รวมทั้งความสามารถรองรับการบริการในสภาวะวิกฤต ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล          

การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านนี้ จะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณ รู้จัก และเข้าร่วมเป็นสมาชิก กอช. เพิ่มมากขึ้น และ กอช. จะมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ตลอดจนระบบเทคโนโลยีรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินงานในปี 2566 นี้ กอช. มีแผนงานลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ กอช. เพิ่มเติมอีก 28 จังหวัด จัดอบรมเสมียนตราอำเภอทั่วประเทศในเดือนมีนาคม โดยเลขาธิการคณะกรรมการ กอช. จะเป็นผู้บรรยาย พร้อมตอบข้อซักถามเกี่ยวกับ กอช. และเพิ่มเป้าหมายตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้านอีกจำนวน 10,000 ราย พร้อมทั้งจะมีการมอบรางวัลแก่จังหวัดที่ส่งเสริมวินัยการออมดีเด่นด้วย

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ  กล่าวว่า  กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนบำนาญ สำหรับแรงงานนอกระบบ จัดตั้งขึ้นในปี 2554 เปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ระยะยาวให้กับประชาชนที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใด ๆ เพื่อไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา หรือ นอกจากผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว กอช. ยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ด้วยการออมตั้งแต่ 50 – 30,000 บาทต่อปี จะมีเงินบำนาญรายเดือนกับ กอช. ไว้ใช้ในยามเกษียณ นับเป็นการเริ่มต้นการส่งเสริมการออมให้ประชาชนคนไทยได้เงินบำนาญอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ