คลังปลื้ม “ชิมช้อปใช้” ยอดสะพัดหมื่นล้านบาท

  • คาดวันหยุดยาวคนใช้จ่ายเงินมากขึ้น
  • ร้านค้าเข้าร่วมโครงการยอดขายเพิ่ม 100%.
  • “สรรพากร” ยันไม่เก็บข้อมูลเก็บภาษีย้อนหลัง 

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ชิมช้อปใช้”  ปัจจุบันมียอดซื้อขายทั้งสิ้น 10,667 ล้านบาท แบ่งเป็น กระเป๋าเงินช่องที่ 1 ผ่านแอปพลิเคชั่น “ เป๋าตัง” วงเงิน 1,000 บาท จำนวน 10,194.3 ล้านบาท และกระเป๋าเงินช่องที่่ 2 ซึ่งจะคืนเงินให้(แคชแบก) 15-20% สูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท วงเงินรวม 50,000 บาท จำนวน 473 ล้านบาท 

ทั้งหากแบ่งอกเป็นแต่ละประเภท จะมียอดใช้จ่าย ดังนี้  ร้านชิม เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น จำนวน 1,460.1 ล้านบาท ร้านช้อป อาทิ ร้านค้าชุมชน ร้านโอทอป เป็นต้น  จำนวน 6,171.7 ล้านบาท ร้านใช้ อาทิ ที่พัก เป็นต้น จำนวน 141.7. ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป จำนวน 2,893.8 ล้านบาท

“ในช่วงวันหยุดยาว 2-5 พ.ย.62 ซึ่งเป็นระยะเวลา 4 วันติดต่อกัน เพื่อรับรองการประชุมสุดยอดอาเซียน คาดว่าจะมีประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ยอดใช้จ่ายในโครงการชิมช้อปใช้ ผ่านแอปฯเป๋าตัง ทั้ง 2 กระเป๋า เพิ่มมากขึ้น”  

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมียอดขายเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 30% และบางพื้นที่ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นถึง 100 % แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้สามารถนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ก่อให้เกิดการหมุนเวียน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขอยืนยันว่ากรมสรรพากรไม่ได้นำข้อมูลผู้ที่ลงทะเบียนทั้งในส่วนของร้านค้า และประชาชนในโครงการชิมช้อปใช้ เพื่อนำมาคิดในการจัดเก็บภาษีอย่างที่กังวล  เนื่องจากกรมสรรพากรมีข้อมูลของผู้เสียภาษีในระบบเยอะอยู่แล้ว และมีวิธีที่จะจัดการคนที่ตั้งใจหลบเลี่ยงภาษีหรืออยู่นอกระบบ ด้วยระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) 

“นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์คนที่เข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ให้เข้าใจตรงกันว่า กรมสรรพากรจะไม่นำข้อมูลการซื้อขาย หรือการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ  ไปใช้เพื่ิอเป็นข้อมูลจัดเก็บภาษีอย่างแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนไม่ต้องกังวล” 

ส่วนเรื่องที่ร้านค้ากังวลว่าจะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบบัญชีธนาคารหากมีการโอนเงินเข้าบัญชีถึง 3,000 ครั้งต่อปี ตามที่กฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ระบุไว้ ว่า บัญชีที่มียอดฝากหรือโอนเงินเข้าทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ธนาคารจะต้องส่งข้อมูลการทำธุรกรรมทุกบัญชีให้กรมสรรพากรนั้น ขณะนี้ร่างประกาศกฎกระทรวงการคลังยังอยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งทำให้กฎหมายนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นจึงไม่มีการตรวจสอบบัญชีของร้านค้าจากยอดการโอนในโครงการนี้แน่นอน