ครม.ไฟเขียวประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าห้ามนำเข้า

  • เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางรายลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปนกับเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศและมีการจัดการโดยไม่ถูกวิธี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (7 เม.ย.) อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. …. เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และสอดคล้องกับร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. …. ได้กำหนดห้ามโรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในโรงงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ สรุปได้ดังนี้  กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 84 และประเภท 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร , กำหนดนิยามขยะอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่นๆ สวิตซ์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่น ๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีบีซี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และกำหนดให้มีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีสงสัยว่าสินค้าใดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา โดยนำความเห็นของกรมโรงานอุตสาหกรรมและกรมศุลกากรมาประกอบด้วย

อย่างไรก็ตามการออกประกาศดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียในประเทศ โดยเฉพาะสารพิษตกค้างประเภทโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม