ครม.เห็นชอบแก้ไขปัญหาส่งมอบพื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสัน

  • เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
  • ส่งกรมที่ดิน-มหาดไทย ดำเนินการแก้ไข ทบทวน ปรับปรุงระเบียบ
  • ชี้เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการขออนุญาต EIA
  • ขออนุญาตก่อสร้างได้ ในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการขอถอนสภาพ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (27 ก.ย.65) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเรื่องการแก้ไขปัญหาส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินบริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน โดยให้กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไข ทบทวน หรือปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2543 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต และการห้ามไม่ให้ขุดพื้นดินลึกจากพื้นดินทั่วไปเกินกว่า 5 เมตร เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการขออนุญาตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และขออนุญาตก่อสร้างได้ ในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการขอถอนสภาพ

ทั้งนี้ สำหรับการขอใช้และการขอถอนสภาพลำรางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติปัจจุบันนั้น เมื่อได้มีการปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทย และมีผลบังคับใช้แล้วให้สามารถใช้แนวทางปฏิบัติตามระเบียบใหม่ไปดำเนินการต่อเนื่องได้ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ดำเนินการยื่นขอเพิกถอนลำรางสาธารณะดังกล่าวแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอให้สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นหนึ่งในโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Flagship Project) โดยปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบพื้นที่ดำเนินโครงการ ให้เอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ต้องส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการเริ่มต้นดำเนินโครงการ ในสัญญาร่วมลงทุนประกอบด้วยพื้นที่ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเกี่ยวกับรถไฟ และพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของรถไฟ โดย รฟท. ได้ดำเนินการจนมีความพร้อมแล้ว แต่ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้ได้ข้อยุติดังกล่าว