ครม.อนุมัติ 5 โครงการเยียวยาประชาชน กลุ่มตกหล่นจาก”คนไทยไม่ทิ้งกัน”

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติ 5 โครงการช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยแก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดประกอบด้วย 1.โครงการช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะจ่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการของภาครัฐในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 1,164,222 คน เดือนละ 1,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน คือเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3.49 พันล้านบาท

“2.ช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีจำนวน 302,160 คน ที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้วยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเยียวยาและชดเชย จากโครงการของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กรอบวงเงินงบประมาณ ไม่เกิน 906 ล้านบาท” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 3. โครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยกลุ่มเปราะบางรวมทั้งหมด 6,781,881 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่นของรัฐ และไม่ซ้ำซ้อนกับระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการของภาครัฐ ประกอบด้วย เด็กจากครัวเรือนยากจน ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี จำนวน 1,394,756 คน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 4,056,596 คน ผู้พิการ จำนวน 1,330,529 คน โดยจ่ายเงินเยียวยารายละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงเด็กแรกเกิด เบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกรฎาคม 2563 กรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2.03 หมื่นล้านบาท และ4.ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเกษตรกร รวมถึงเกษตรกรที่ด้อยโอกาสและยังไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร จำนวน 137,093 ราย 

“ผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือต้องได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการของกรมบัญชีกลางและระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งมาตรการอื่นใดของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 แล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปอย่างเท่าเทียม การดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบวงเงินและจำนวนเกษตรกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านรายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การขยายเวลาการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวนประมาณ 120,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรในรอบการผลิตที่ผ่านมาแล้ว โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงทะเบียนเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้