คมนาคมประชุมขนส่งเอเปคโชว์โครงการด้านการขนส่ง 4 มิติ บก น้ำ ราง อากาศ-เร่งเครื่องเสนอ ครม.ปีนี้สร้าง”แลนด์บริดจ์” 1.1 ล้านล้านรับโลจิสติกส์อาเซียน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group: TPTWG52) ว่า  การประชุมด้านการขนส่งของเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นเป็นเวทีสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางอากาศ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางบก และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางน้ำ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติบก น้ำ ราง และอากาศ เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและโอกาสในการเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำข้อมูลการพัฒนาคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561-2580) นำเสนอให้กับประเทศสมาชิก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้รับทราบแผนการดำเนินการของประเทศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ จะมีการหารือในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งเรื่องนโยบายสีเขียว (Green) และการลดคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือและรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของเอเปค ปี 2565 – 2568 (TPTWG Strategic Action Plan 2022 – 2025) ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงานและแนวทางในการพัฒนาแผนงานประจำปีและกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขา รวมถึงโครงการต่าง ๆ ในกรอบเอเปคด้านการขนส่ง เพื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาภายใต้กรอบเอเปค ปี ค.ศ. 2040 ที่มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสันติสุข เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นหลัง

ขณะเดียวกันการประชุมในครั้งนี้กระทรวงคมนาคมยังได้มุ่งเน้นการนำเสนอโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Southern Landbridge) ซึ่งอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาค ซึ่งในขณะนี้ผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จ โดยคาดว่าจะนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นในปี 2566 ก็จะเป็นปีของการโรดโชว์ เพื่อดึงผู้ประกอบการสายการเดินเรือต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งในเบื้องต้นนั้นมีทั้งผู้ประกอบการจากยุโรป และตะวันออกกลางให้ความสนใจ หลังจากโรดโชว์ก็จะเห็นการดำเนินการเรื่องการลงทุนก่อสร้าง ทั้งนี้ตามแผนการลงทุนโครงการ Southern Landbridge มีเป้าหมายเปิดให้บริการปี 2573 (หรือ 2030) 

ทั้งนี้โครงการ Southern Landbridge นั้นจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเลที่เป็น Transshipment การขนส่งสินค้าของภูมิภาคโดยสามารถเชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1.1 ล้าน ล้าน ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อเพื่อการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (OPEN. CONNECT. BALANCE.) 

ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปพิจารณาศึกษาและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ โดยรูปแบบการลงทุนนั้นจะต้องไปศึกษาว่าจะเป็นรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน หรือเอกชนลงทุน 100% ในการบริหารการเดินเรือ ซึ่งการลงทุนต้องมีอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) ที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป