คนรักสุขภาพ เรียนรู้ “พรี-โพรไบโอติกส์ ” เพื่อสุขภาพที่ดี

  • ความต่างของ พรีไบโอติกส์ และ โพรไบโอติกส์
  • ย้ำต้องรับประทานอาหารที่หลากหลายเป็นประจำทุกวัน

ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการนายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
หลายคนอาจเคยได้ยิน ชื่อ พรีไบโอติกส์ และ โพรไบโอติกส์ ว่ามีประโยชน์ แต่มีประโยชน์อย่างไร วันนี้มาทำความรู้จักกัน “โพรไบโอติกส์” ก็คือจุลินทรีย์ในร่างกาย โดยปกติในลำไส้ของคนเราจะมีแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์หลายชนิด ทั้งที่มีประโยชน์และก่อให้เกิดโรคอยู่ในลำไส้เป็นจำนวนมาก โดยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จะสร้างกรดแลกติกเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรค ช่วยในการดูดซึมสารอาหารและสังเคราะห์วิตามินต่างๆ กระตุ้นระบบภูมิต้านทานในร่างกาย หากร่างกายอยู่ในภาวะปกติจุลินทรีย์ทั้ง 2 ชนิดนี้จะรักษาสมดุลซึ่งกันและกัน เราก็จะมีสุขภาพดีและมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แต่ด้วยการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ การแข่งขัน ความเครียด และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมอีกหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน เช่น อายุที่มากขึ้น การใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน การรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาระบาย ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวด ล้วนเป็นสาเหตุให้ร่างกายมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ลดลงจนเสียสมดุลและเกิดความผิดปกติตามมา เช่น ท้องผูก โรคภูมิแพ้ ระดับคอเลสเตอรอลสูง หรืออาจถึงขึ้นก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ขึ้นได้

ทั้งนี้การรับประทานพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์ให้ได้ประโยชน์ต้องรับประทานคู่กัน เพราะพรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ พูดง่ายๆ เลยก็คือ เราจึงควรรับประทานอาหารที่หลากหลายเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ได้ทั้งพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่เหมาะสม

รู้อย่างนี้แล้วผู้ที่รักสุขภาพเช่นคุณ ก็ไม่ควรมองข้าม พรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์ และเพื่อสุขภาพที่ดีพร้อมก็ต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตตัวเองควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชีวิตที่ดีและสุขภาพที่ยืนยาวของตัวคุณเอง