พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล ปี2567

วันพืชมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี2567
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

วันพืชมงคล ปี2567 ล่าสุดนี้ จะมี พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม ปี2567 ซึ่ง วันพืชมงคล จะเป็น วันเกษตรกร ด้วย โดยมีรายละเอียด ประวัติ ขั้นตอนพระราชพิธี เกร็ดความรู้ คำทำนายของ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ดังนี้

หมายกำหนดการ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล ปี2567

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม ปี2567

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม ปี2567

พระยาแรกนา ขึ้นรถยนต์หลวง ออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปยังมณฑลพิธี ท้องสนามหลวง แล้วเดินนำ กระบวนแห่อิสริยยศ ไปที่โรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกายไว้พร้อม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังพลับพลาที่ประทับ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

 โดยจะมีฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.09น. – 08.39น.

รายละเอียด พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล ปี2567

เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ โดยจะประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่ง ปี2567 มีดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียน ถวายนมัสการ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปที่สำคัญ

พระราชาคณะถวายศีล จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย ถวายดอกไม้ บูชาพระคันธารราษฎร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์ แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทยแล้ว

พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ หัวหน้าคณะพราหมณ์ อ่านประกาศ พระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์ 11รูป เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมพระราชทาน ธำมรงค์กับพระแสงปฏัก สำหรับตำแหน่งพระยาแรกนา

แล้วทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมแก่เทพี ผู้ที่จะเข้าในการ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขณะนั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พนักงานประโคมฆ้องชัย เครื่องดุริยางค์ หลังจากนั้น ทรงประเคน จตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระอุโบสถ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ประกาศ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล ปี2567

ประกาศพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นคาถาภาษาบาลี พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่4 อ่านทำนองสรภัญญะ จบแล้วดำเนินความภาษาไทยเป็นคำร้อยแก้ว เนื้อความเป็นคำอธิษฐาน 4 ข้อดังนี้

ข้อ1 เป็นคำนมัสการสรรเสริญ พระคุณพระพุทธเจ้าว่า ทรงดับทุกข์ได้ มีพระหฤทัยคงที่ ทรงปลูกธรรม ให้งอกงามจำรูญ แก่บรรดาสาวกพุทธเวไนยสืบๆ มา พระสัทธรรม อันมีผลเป็นอมตะ ก็ยังงอกงามได้ด้วย เดชะพระบารมีของพระองค์

บัดนี้เราทั้งหลายบูชา พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น กับพระธรรมและพระสงฆ์ แล้วจะปลูกพืช คือ บุญในพระรัตนตรัย อันเป็นเนื้อนาบุญ อย่างดี พืชคือบุญนี้ เมล็ดผลเป็นญาณ ความรู้อันเป็นเครื่องถ่ายถอนทุกข์ในโลก

สามารถส่งผลให้ได้ ทั้งในปัจจุบัน และในกาลภายหน้าสืบๆ ไป ตามกาลอันควรจะให้ผลเป็นอุปการะนานาประการ ขอให้พืช คือบุญที่เราหว่านแล้ว จงให้ผลตามความปรารถนา

อนึ่ง ขอให้ข้าวกล้า และบรรดาพืชผล ที่หว่านที่เพาะปลูกลงในที่นั้นๆ ทั่วราชอาณาเขต จงงอกงามจำรูญ ตามเวลาอย่าเสียหายโดยประการใด ๆ

ข้อ2 ยกพระคาถา ที่พระพุทธเจ้า ตรัสแสดงการทำนา ของพระองค์แก่พราหมณ์ชาวนาผู้หนึ่งว่า “ศรัทธา-ความเชื่อเป็นพืชพันธุ์ข้าวปลูกของเรา ตบะ-ความเพียร เผาบาปเป็นเมล็ดฝน ปัญญา-ความรอบรู้เป็นแอกและไถ

หิริ-ความละอายใจเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติ-ความระลึกได้เป็นผาลและปฏัก เราจะระวังกายระวังวาจาและสำรวม ระวังในอาหาร ทำความซื่อสัตย์ ให้เป็นท่อไขน้ำ มีโสรัจจะ-ความสงบเสงี่ยมเป็นที่ปลดไถ

มีวิริยะ-ความเพียรเป็นแรงงาน ชักแอกไถเป็นพาหนะ นำไปสู่ที่อันเกษม จากเครื่องผูกพัน ที่ไปไม่กลับที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถของเราเช่นนี้ มีผลเป็นอมตะ มิรู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ”

วันพืชมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี2567 เทพีหาบทอง
เทพีหาบทอง ปี2567

ดังนี้ มายกขึ้น เป็นคำอธิษฐานว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ เป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจแห่งความสัตย์นี้ ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลที่หว่าน ที่เพาะปลูกจงงอกงาม ทั่วภูมิมณฑลอันเป็นราชอาณาเขต

ข้อ3 ยกพระคาถา อันเป็นภาษิต ของพระเตมีย์โพธิสัตว์ ความว่า “บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร โคย่อมจำรูญพูนเกิดแก่เขา พืชที่หว่านในนาของเขา ย่อมงอกงามจำเริญ เขาย่อมได้รับบริโภคผล แห่งพืชพันธุ์ที่หว่านแล้ว”

และว่า “บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร อันศัตรูหมู่อมิตรไม่อาจย่ำยีได้ ดุจไม้ไทรมีราก และย่านอันงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มไปได้ฉันนั้น” มาตั้งเป็นสัตยาธิษฐาน ว่าด้วยอำนาจสัจวาจานี้

ขอให้ข้าวกล้า และพืชผลที่หว่านเพาะปลูก ในภูมิมณฑลทั่วราชอาณาเขต จงงอกงามไพบูลย์

ข้อ4 อ้างพระราชหฤทัย ของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระเมตตา กรุณา แก่ประชาราษฎร ตั้งพระราชหฤทัย จะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุข ทั่วหน้า เป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจความสัตย์นี้ ขอให้ข้าวกล้า และพืชผลงอกงาม บริบูรณ์ ทั่วราชอาณาเขต

ต่อจากนั้น เป็นการกล่าวถึง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า “พระคัณธารราษฎร์” ที่มีพุทธานุภาพ บันดาลให้ฝนตก อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญ ในพระราชพิธีนี้ แสดงตำนานโดยลำดับจนรัชกาลที่1 ได้ทอดพระเนตร

และได้โปรดให้หล่อขึ้นใหม่ สำหรับตั้งในพระราชพิธี และต่อนั้นไป ว่าด้วยการพระราชกุศล ที่ทรงบำเพ็ญในพระราชพิธีนั้น ทรงพระราชอุทิศแก่ เทพยดาทั้งปวง แล้วอธิษฐาน เพื่อให้ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ และฝนตกตามฤดูกาล พระสงฆ์จะสวดต่อท้าย การสวดมนต์ในพระราชพิธีพืชมงคล

ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) เป็นพิธีพราหมณ์นั้น จะได้ประกอบ พิธีบริเวณ มณฑลพิธีสนามหลวง โดยได้ตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ อาทิ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระอุมาภควดี พระมหาวิฆเนศวร์ พระลักษมี พระพลเทพ และพระโคอุศุภราช

ซึ่งในตอนค่ำพระมหาราชครู จะทำพิธีบวงสรวงเพื่อความสวัสดีแก่พืชผลด้วย

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เป็นงานพระราชพิธี ที่กระทำในตอนเช้าของรุ่งขึ้น อีกวันหนึ่ง ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ที่มีแจ้งไว้ในกำหนดการดังนี้

วันศุกร์ที่10 พฤษภาคม ปี2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่ พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพี

ขึ้นรถยนต์หลวงที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูสวัสดิโสภา ถนนสนามไชยไปยังมณฑลพิธี ท้องสนามหลวง

เมื่อเดินทางมาถึง จะได้ตั้งกระบวน แห่อิสริยศแก้วเดินกระบวนแห่อิสริยยศไปส่ง ที่โรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาจุดธูปเทียนถวายสักการะ เทวรูปสำคัญ แล้วจะได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่ง แต่งกายไว้พร้อม

เมื่อพระยาแรกนา ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่งผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวนเตรียมออกแรกนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพลับพลาที่ประทับบริเวณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธาน ฃ

ในงาน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.09น. – 08.39 น. นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา จะได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์

มีราชบัณฑิตและพราหมณ์ นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาเข้าเฝ้า ทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคม แล้วไปยังลานแรกนา เจ้าพนักงานจูงพระโค เทียมแอก พระยาแรกนาเจิม พระโคและคันไถ จับหางไถแล้วไถดะ

วันพืชมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี2567 เทพีหาบเงิน
เทพีหาบเงิน ปี2567

พระยาแรกนาประกอบพิธีไถรวม 9 รอบ

ไปโดยทักษิณาวรรต 3 รอบ ไถแปร 3 รอบ พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว พนักงานประโคมฆ้องชัย เครื่องดุริยางค์ แล้วไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์ข้าว ลงในดิน เสร็จแล้วพนักงาน ปลดพระโค ออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพี กลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์

พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะได้ถวายคำพยากรณ์ เสร็จแล้วจะได้เบิกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ

และปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาต่าง ๆ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ หลังจากนั้นจะได้แห่พระยาแรกนาเป็นกระบวนอิสริยยศออกจาก โรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนากราบถวายบังคม แล้วเข้ากระบวน ไปขึ้นรถยนต์หลวง พร้อมด้วยเทพี ไปรอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แปลงนาทดลอง ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระยาแรกนาเข้ากราบถวายบังคม

พระยาแรกนาและเทพีนำเมล็ดพันธุ์ข้าว ไปหว่านในแปลงนาทดลอง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อปลูกไว้ใช้ในพระราชพิธี ฯ ในปีต่อไป

เมื่อพระยาแรกนา หว่านข้าวเสร็จแล้ว เข้าไปกราบถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอันเสร็จพระราชพิธี

เกร็ดความรู้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระโค ประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี2567

สำหรับ พระโค ในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่ เป็นพาหนะ ของพระอิศวร ซึ่งเปรียบได้กับ การใช้แรงงาน และความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยง ที่พระกฤษณะ และพระพลเทพ ดูแล ซึ่งเปรียบได้กับ ความอุดมสมบูรณ์

ดังนั้น ในการประกอบ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนด ให้ใช้ พระโคเพศผู้ เข้าร่วม พระราชพิธี เสมอมา ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทน ของความเข้มแข็ง และความอุดมสมบูรณ์

ใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย ให้กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงาน ดำเนินการคัดเลือกโค เพื่อใช้ใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพ ราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการ คัดเลือกโค เพื่อเป็น พระโค ตามหลักเกณฑ์ ซึ่ง จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก ไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่ จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย

เขา มีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม

ปี2567 นี้ กรมปศุสัตว์ ได้คัดเลือก พระโค เพื่อใช้ใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ

พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล

รายชื่อ พระโคแรกนาขวัญ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปี พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปี

รายชื่อ พระโคสำรอง พระโคเพิ่ม มีความสูง 162 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 236 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 201 เซนติเมตร อายุ 14 ปี พระโคพูล มีความสูง 157 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 242 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 205 เซนติเมตร อายุ 14 ปี

พระโคแรกนาขวัญ และพระโคสำรอง ประจำ ปี2567 เป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า

ประวัติโคขาวลำพูน        

โคขาวลำพูน เป็นโคพื้นเมือง สำหรับใช้งานดั้งเดิม ที่พบกันมาก ในอำเภอต่างๆ ของ จังหวัดลำพูน และเชียงใหม่ และแพร่กระจาย ไปยังอำเภอต่างๆ ของจังหวัดลำปาง พะเยา และเชียงราย ที่อยู่ใกล้กับ จังหวัดลำพูน และเชียงใหม่

มีลักษณะ ที่โดดเด่น คือมีรูปร่างสูงใหญ่ สูงโปร่ง ลำตัวมีสีขาวตลอด พู่หางขาว หนังสีชมพูส้ม จมูกสีชมพูส้ม เนื้อเขาเนื้อกีบสีน้ำตาลส้ม

จากลักษณะเด่น เป็นสง่า ดังกล่าว จึงได้ถูกคัดเลือก ให้เป็นพระโคใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ความเป็นมาของโคขาวลำพูนนั้น ยังไม่มีผู้ใดศึกษาไว้ อย่างจริงจัง และยังไม่ทราบแน่นอน ถึงถิ่นกำเนิดที่แท้จริง อยู่ที่ใดและมีมาแล้วตั้งแต่เมื่อใด

ที่เริ่มรู้จักกัน นั้นมีความเป็นมา จากการที่ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มเลี้ยงฝูงโคขาว ตั้งแต่ปี 2521 แทนฝูงโคเนื้อลูกผสมพันธุ์ต่างประเทศ เพื่อหาทางศึกษาชี้นำให้มีการอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์

วันพืชมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี2567 พระยาแรกนา
พระยาแรกนา ปี2567

ประวัติพระยาแรกนา พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี2567

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประวัติส่วนตัว

นายประยูร อินสกุล เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2508 เป็นบุตรของ นายหยด อินสกุล และนางกิ่ง อินสกุล สมรสกับ นางสาวสมลักษณ์ ตัญญะวังรัตน์ มีบุตร 2 คน คือ นายภานรินทร์ อินสกุล และ นางสาวนวพรรณ อินสกุล

ประวัติการศึกษา

  • ปี2523     มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอำนวยเวทย์
  • ปี2526     มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม
  • ปี2528     สถาบันการศึกษาทางสหกรณ์
  • ปี2533     ศิลปศาสตรบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์สหกรณ์) วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา
  • ปี2545     รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์)  มหาวิทยาลัยณิวัฒนา (ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น)

ประวัติการทำงาน

  • ปี2535     เริ่มรับราชการในตำแหน่ง นักวิชาการสหกรณ์ 3 กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • ปี2551     ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 14 จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • ปี2551     ดำรงตำแหน่ง สหกรณ์จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • ปี2554     ดำรงตำแหน่ง สหกรณ์จังหวัดสระบุรี กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • ปี2556     ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • ปี2557     ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • ปี2560     ดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
  • ปี2562     ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • ปี2563     ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • 1ตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คำทำนายใน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ในงาน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีการเสี่ยงทาย 2 ครั้ง ประกอบด้วย การตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย หรือ เรียกว่า การเสี่ยงทายผ้านุ่ง 

ผ้านุ่งซึ่งเป็นผ้าลาย จะมี ๓ ผืน คือ 4คืบ 5คืบ และ6คืบ วางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบ หากหยิบได้ผ้าผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งผืนเดิมอีกชั้นหนึ่งเพื่อเตรียมออกแรกนา

ผ้านุ่งเสี่ยงทาย
ผ้านุ่งเสี่ยงทาย

คำทำนายผ้านุ่ง

  • ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอน จะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม อาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
  • ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้ จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้า ในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่ม จะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

สำหรับการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งของพระโคมีดังนี้        

ของกิน 7สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น มี ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ

  • ถ้าพระโคกิน  ข้าว  หรือ  ข้าวโพด   พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกิน  ถั่ว  หรือ  งา  พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกิน  น้ำ  หรือ  หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
  • ถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคม จะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ของกินเสี่ยงทาย 7 สิ่ง
ของกิน 7 สิ่ง ให้พระโคเสี่ยงทาย

ประวัติ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งใน สมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

ครั้งถึง สมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และ จะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์

โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่1 แต่ผู้ทำการแรกนา เปลี่ยนเป็น เจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้น ในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้น แต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบาย ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า

“การแรกนา ที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยม มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดิน ก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสี เลี้ยงตัวไหม

ส่วนจดหมาย เรื่องราวอันใด ในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้นั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่าง แก่ราษฎร ชักนำให้มีใจ หมั่นในการ ที่จะทำนา

เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุ ของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์ แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนา เป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวง ลงมือไถนาของตนตามปกติ

ก็ด้วยความหวาดหวั่น ต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่า มากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนา ที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ เป็นกำลัง

จึงต้องหาทาง ที่จะแก้ไข และ หาทางที่จะอุดหนุน และที่จะเสี่ยงทาย ให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอก มั่นใจ โดยอาศัยคำอธิษฐาน เอาความสัตย์ เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษ

นับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรง และเป็นที่มั่นใจ ตามความปรารถนา ของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”

การจัดงาน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณี ครั้งสุดท้ายในปี 2479 เว้นไปจนกระทั่งในปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่

และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่าง ให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปี สืบมามิได้ขาด

เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขึ้นมาในระยะแรกนั้น พระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้ง 4 พิจารณาคัดเลือก จากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทอง และคู่หาบเงินนั้น ได้ทำการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป

พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร

พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชนในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือ บุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ

หมายถึง พืชจำพวกถั่ว งา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด

บุพพัณณปรัณณชาติ ที่นำเข้า พระราชพิธีพืชมงคล นั้น เป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว นอกจากนี้ยังมีเมล็ดพืชต่างๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่างๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่าน ในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่ง และเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดี ที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ปลูกในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพระราชพิธีพืชมงคล

พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้ จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการ จะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่าย แก่ชาวนาและประชาชน ในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญ และเป็นสิริมงคล แก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้

นับตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น วันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอาชีพ ทางการเกษตร พึงระลึกถึง ความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกัน ประกอบ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคล แก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงาน วันเกษตรกร ควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลตลอดมา

รายนามผู้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล

เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ ดีเด่นแห่งชาติและปราชญ์เกษตรของ แผ่นดิน ปี2567

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี2567

1.อาชีพทำนา ได้แก่ นางทองเม็ด พรมพิทักษ์ บ้านเลขที่ 151 หมู่ที่ 3 ตำบลวังน้ำลัด อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

2.อาชีพทำสวน ได้แก่ นายประดับ ปิ่นนาค บ้านเลขที่ 317 หมู่ที่ 8 ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

3.อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายสุริยา ห่วงถวิล บ้านเลขที่ 175 หมู่ที่ 2 ตำบลเขารวก อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี

4.อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางอัญชัน สุขจันทร์ บ้านเลขที่ 127 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านจารย์ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์

5. อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นายพินิจ แก้วพิมาย บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 2 ตำบลดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

6.อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสัมฤทธิ์ อินทร์เฉลียว บ้านเลขที่ 164 หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำสุด อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

7.อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสุชาติ ปิยะศิรินนท์ บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยพระ อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม

8.อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่  นายณัฏฐชัย นาคเกษม บ้านเลขที่ 82/2 หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

9.อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายธีรุตม์ อนวัชศิริวงศ์ บ้านเลขที่ 12/10 ถนนประตูกลอง 2 ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

10.อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่  นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองเส อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช

11.สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางอวยพร ราชเล็ก บ้านเลขที่ 20/1 หมู่ที่ 6 ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง

12.สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสนิท ดำบรรณ์ บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 2 ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

13.สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายแล โพธิ์วัด บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 8 ตำบลไผ่ท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร

14. สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ เรืออากาศตรีบัญชา เพ็ชรรักษ์ บ้านเลขที่ 20/1 หมู่ที่ 6 ตำบลโพกรวม อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

15.ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายนพธิไกร จอมภาปิน บ้านเลขที่ 244 หมู่ที่ 2 ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่

16.สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ บ้านเลขที่ 305 หมู่ที่ 5 ตำบลแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำ ปี2567

1.กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่  กลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 27 หมู่ที่ 9 ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

2.กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราบ้านคำข่า ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 102 หมู่ที่ 4 ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

3.กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไทย เขาชัยสน ที่ทำการกลุ่ม เลขที่253 หมู่ที่ 8 ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

4.กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือ กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงพื้นบ้านไหนหนัง ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 70/1 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

5.กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่   วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุ่งรวงทอง ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 192/2 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

6.กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 181 หมู่ที่ 1 ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์

7.กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่

8.กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสามัคคีพันธุ์ข้าว ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 58/3 หมู่ที่ 6 ตำบลยางขาว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

9.สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานม่วงเตี้ย ที่ทำการกลุ่ม ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 1 ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

10.ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลล้อมแรด ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 294/1 หมู่ที่ 5 ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

11.ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโพธิ์เจริญ ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 58 หมู่ที่ 10 ตำบลท่าชัย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท

12.วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 158 หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยไร่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำ ปี2567

1.สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ เชียงใหม่ – ลำพูน จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ เลขที่ 165 หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

2.สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ เลขที่ 335 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี

3.สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ เลขที่ 562 ถนนเอราวัณ – บึงสวรรค์ ตำบลผาอินทร์แปลง อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย

4.สหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ได้แก่ สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท้ายวัดพญาปันแดน จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ เลขที่ 226/2 หมู่ที่ 3 ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

5.สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่   สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขลำพูน จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ เลขที่ 369 หมู่ที่ 6 ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

6.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคุรุสภาอำเภอเมืองเชียงใหม่ จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ เลขที่ 219 หมู่ที่ 5 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

7.สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ เลขที่ 198 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำ ปี2567

1.ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายวินิจ ถิตย์ผาด บ้านเลขที่ 167 หมู่ที่ 8 ตำบลภูปอ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

2.ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายพิบูลย์ชัย ชวนชื่อ บ้านเลขที่ 190/3 หมู่ที่ 1 ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

3.ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายอัษฏางค์ สีหาราช บ้านเลขที่ 60/2 หมู่ที่ 2 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

ที่มาของข้อมูล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักพระราชวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ประวัติความเป็นมา“พิธีแรกนาขวัญ”วันพืชมงคล