“กัลฟ์” แนะรัฐ-เอกชน กู้วิกฤติเศรษฐกิจไทย เตรียมพร้อมเพื่อการลงทุนที่ยั่งยืน

  • ย้ำรัฐหันมาใส่ใจกลุ่มนักเรียนทุนที่ส่งไปเรียนมหาวิทยาลัยระดับโลก
  • ให้นำความรู้มาสานต่อพัฒนาประเทศชาติ
  • รวมถึงมองไกลวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว อาทิปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง
  • เสนอปั้น “ภูเก็ต” เป็นสเปเชียล อีโคโนมิค โซน เพื่อเพิ่มโอกาสลงทุน

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย ว่า ปัจจุบันพื้นฐานการศึกษาของไทยยังตอบสนองการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ แต่ไทยควรมองประเทศรอบด้านว่าเขาพัฒนาไปอย่างไร ยกตัวอย่าง มีคนไทยคนหนึ่งได้ทุนจากรัฐบาล เรียนวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เมื่อกลับมาใช้ทุนกลับให้ทำงานแค่จดวาระการประชุม จึงตัดสินใจลาออกไปทำธุรกิจ ซึ่งภาครัฐต้องกลับมาดูเรื่องนี้ เพราะเท่ากับสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพพัฒนาประเทศ เพราะขณะที่ไทยมีโอกาสทางการลงทุนตลอดเวลา แต่ปัญหาคือผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) กับประชาชนฐานรากหรือรากหญ้าไม่โตไปด้วยกัน ตอนนี้รากหญ้าประสบปัญหาจึงต้องดูแลส่วนนี้ 

ขณะที่สินเชื่อก็พบว่ามีปัญหา อย่างกัลฟ์กู้เงินในไทยหรือต่างประเทศไม่ยาก แต่เอสเอ็มอกู้เงิน 100-200 ล้านบาท ธนาคารเข้มงวดมากกว่า และหากไม่สามารถแก้ภาพรวมเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ จะกลับมากระทบต่อระบบสินเชื่อเหล่านี้ ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟฟ้า แม้ดำเนินการไปมาก แต่พบความประหลาดคือไม่เชื่อมโยงกัน ต้องรอรถประจำทาง อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแล หรือการสร้างโลคัล โร้ด ถ.วิภาวดี ถ.บางนา รวมทั้งทางยกระดับดอนเมือง -โทลเวย์ เมื่อก่อนถูกคัดค้านแต่ปัจจุบันมีประโยชน์ รัฐจึงควรลงทุนระบบสาธารณูปโภค

ส่วนภาคเกษตรของไทยเจอปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ไม่เข้าใจทำไมเจอปัญหานี้ตลอด เมื่อดูต่างประเทศ อาทิ อิสราเอล ทำระบบบริหารน้ำได้ ส่วนหนึ่งเพราะการลงทุนระยะยาว จึงอยากให้ทำโครงการลักษณะร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เมืองไทยต้องกล้าลงทุนเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เพราะแม้อดีตการเมืองจะมีความวุ่นวาย มีกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่นักลงทุนยังอยู่กับไทย เพราะกฎหมายเรามีเสถียรภาพคือจุดเด่น และหากไทยเปิดการลงทุนด้วยระบบพีพีพีจะเป็นสิ่งที่ดี และต้องมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม มีระบบโทรคมนาคมที่ รองรับ 5 จี หรือ 6 จี ยิ่งดี

“ปัจจุบันเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างมุ่งลงทุนในเวียดนาม เพราะนายกรัฐมนตรีของเวียดนามให้คำมั่นกับนักลงทุนในการลงทุน นอกจากนี้ ยังให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 50 ปี แต่ไม่ได้ให้ทุกเทคโนโลยี เวียดนามจะเลือกเฉพาะธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงไม่กี่ธุรกิจ ทำให้พบว่ามีบริษัทระดับโลก อย่างซีเกต ไอบีเอ็ม มาลงทุนจนเป็นไฮเทค พาร์ค ซึ่งเรื่องนี้อยากสะท้อนให้เกิดในไทยเช่นกัน และเมื่อมองกลับมาไทย ทุกธุรกิจจะอยู่ได้ ต้องมีมุมมองธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไม่น่ากังวล หากปรับตัวได้ทันพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป”

นายสารัชถ์ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้การออกไปลงทุนต่างประเทศ ตามขั้นตอนต้องผ่านสิงคโปร์ก่อนเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตรา ทุกบริษัทต้องทำเหมือนกัน จึงอยากเสนอภูเก็ตเป็นสเปเชียล อีโคโนมิค โซน เพราะขนาดใกล้เคียง และมีต่างชาติจำนวนมากเดินทางไปเที่ยว ส่วนประเทศที่ไทยจะไปลงทุนต้องเลือกที่แข่งขันได้ ไม่ใช่ทำธุรกิจที่ไม่รู้ และแม้คนไทยไม่ได้ถูกสร้างต้องไปทำงานต่างประเทศก็ต้องปรับตัว ต้องฝึกฝนพนักงานของตัวเองให้มีพื้นฐานในการออกไปใช้ชีวิต ดูตัวอย่างประเทศจีนลงทุนในเซเนกัล ประเทศอื่นคงไม่กล้าไปลงทุน แต่จีนกล้าเพราะจีนมีการฝึกฝนเรื่องนี้