กรรมาธิการคมนาคมสภาผู้แทนราษฎรเกาะติดแผนพัฒนาสถานีหัวลำโพง

นายโสภณ ซารัมย์ ประธานกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรว่า ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา เรื่อง “แผนพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลต่อที่ประชุม โดยมีผู้แทนเข้าร่วมชี้แจง ได้แก่ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และในฐานะผู้แทนคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายนิรุตฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และ นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงถึงปัญหาของระบบคมนาคมในภาพรวมว่า มีปัญหาจราจรติดขัด มลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต้นทุนค่าขนส่งที่สูง และอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจากยุทธศาสตร์ของประเทศและนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ   ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบรางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการวางแผนและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง  จะเห็นได้จากการเร่งรัดโครงการสำคัญ เช่น โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนการให้บริการโดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคม รับบทบาทแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เนื่องสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จากมีลักษณะเป็นสถานีปลายทาง (Dead end Station) และมีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่ที่ไม่สามารถขยายได้ 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้มีการเตรียมการปรับเปลี่ยนดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ด้านการเดินรถและเชื่อมต่อการเดินทาง ด้านการกำหนดจุดเปลี่ยนถ่าย (Gateway/Hub) ด้านสถานี ด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร และด้านการสื่อสารสาธารณะ ทั้งนี้ จากการดำเนินการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการดังกล่าว กระทรวงคมนาคมขอยืนยันว่า สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ยังคงให้บริการประชาชนเช่นเดิม โดยจะมีการพิจารณาปรับรูปแบบพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมกลางเมือง ทั้งรถไฟชานเมือง สายสีแดงส่วนต่อขยายจากสถานีกลางบางซื่อ สายสีน้ำเงิน และระบบขนส่งอื่นๆ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัยนและอนุรักษ์มรดกอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ และจัดสรรพื้นที่สำหรับสาธารณะ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชน ประโยชน์ของรัฐ ตามลำดับ

นอกจากนั้นทาง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และในฐานะผู้แทนคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอแนวทางการเปลี่ยนถ่ายการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะยังคงรูปแบบการเดินรถและการให้บริการตามเดิมก่อน ซึ่งจะมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยจัดทำ checklist กำหนดแนวทางการเปลี่ยนถ่าย จัดทำ Action Plan การย้ายรถไฟเชิงพาณิชย์ไปให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ รวมถึงการลดบทบาทสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้เหมาะสม สมดุล และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริการและประชาชน 

ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การพิจารณาปรับแผนการเดินรถเข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้เหมาะสม ในช่วงต้นปี 2565 สำหรับการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะดำเนินการภายใต้แนวคิดในเชิงอนุรักษ์ซึ่งมีแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ เพื่อเป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง และจะพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมตามแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) โดยมีการศึกษาการพัฒนาย่านสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เมื่อปี 2554 และ 2563 ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนการวางแผนในเบื้องต้นเท่านั้น โดยจะมีการศึกษาและนำผลการศึกษาในอดีตมาปรับปรุงและพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

นายโสภณ กล่าวต่อว่า ดังนั้นทางคณะกรรมาธิการฯ จึงได้มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยให้กระทรวงคมนาคมเร่งประชาสัมพันธ์การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันยังคงเดินรถตามเดิม ไม่ได้ลดขบวน แต่จะมีการพิจารณาในรายละเอียดและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งให้พิจารณาจัดทำแผนการพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้ชัดเจน โดยให้คำนึงถึงแนวคิดการพัฒนาใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่1. การอนุรักษ์อาคารและแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ2. การพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ ช่วยเหลือสถานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และ 3. แผนการเดินรถที่ควรเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ