กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี

  • แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี
  • ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์
  • พร้อมติดตามความก้าวหน้าพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์
  • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ประจำปีการศึกษา 2562 ในระดับปริญญาโท จำนวน 4 ราย ระดับปริญญาเอก จำนวน 8 ราย และพระราชทานทุน “ศรีเมธี” ประจำปีการศึกษา 2563 ให้กับนิสิตของสถาบันฯ ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม จำนวน 8 ราย รวมทั้งพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ที่สำเร็จการศึกษา รุ่นที่3 โดยมีนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานที่ปรึกษานโยบายสถาบันวิทยสิริเมธี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันสถาบันวิทยสิริเมธี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยคณะผู้บริหารจาก กลุ่ม ปตท. และผู้สนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ จึงร่วมกันจัดตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อร่วมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของ กลุ่ม ปตท.

ทั้งนี้ใน ปัจจุบัน สถาบันวิทยสิริเมธี มีนิสิตทั้งหมด 6 รุ่น จำนวน 247 คน จาก 4 สำนักวิชา ได้แก่ 1.สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล 2.สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน 3.สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 4.สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า เป็นอีกหนึ่งกลไกสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยของทั้ง 4 สำนักวิชา ซึ่งผลงานวิจัยจำนวนมากของสถาบันฯ ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยในปี 2563 ถือเป็นก้าวสู่การดำเนินงานปีที่ 5 อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยผลงานสำคัญคือการได้รับการจัดอันดับจาก Nature Index ให้ขึ้นสู่ “ที่ 1” มหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่มีผลงานวิจัย “ชั้นเลิศ” ในทุกสาขาวิชาด้าน Natural Sciences ทั้ง Physical Sciences, Life Sciences, Chemical Sciences และ Earth & Environmental Sciences และเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน (อันดับที่ 1-3 เป็นของมหาวิทยาลัยจากประเทศสิงคโปร์) รวมถึงการครอง “อันดับที่ 1 ของประเทศไทย เป็นครั้งที่2 ติดต่อกัน” ในสาขา Chemical Sciences (ที่มา : ข้อมูลการจัดอันดับ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563)

สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2562 มีจำนวน 65 คน ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศจำนวน 30 คน ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ 35 คน และยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันด้านวิชาการในต่างประเทศ อาทิ การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับนานาชาติ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ รวมถึงมีผลงานทางด้านวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ และมีผลงานที่สามารถยื่นขอรับอนุสิทธิบัตรได้

จากนั้น กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปอาคารสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ชีวโมเลกุล เพื่อรับฟังการบรรยายและทอดพระเนตรนิทรรศการ “การสร้างและการสาธิตการใช้งานชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19” ใช้เทคโนโลยี CRISPR (คริสเปอร์) มาทำชุดตรวจวินิจฉัย มุ่งหวังให้ในอนาคตจะนำเทคนิคCRISPR (คริสเปอร์) ไปใช้ตรวจและควบคุมโรคระบาดอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา หรือมาลาเรีย เป็นต้น โดยเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทอดพระเนตรศูนย์คอมพิวเตอร์วิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ที่ใช้ในงานปัญญาประดิษฐ์ และงานประมวลผลแบบจำลองโมเลกุล

ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Research Institute Thailand) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง VISTEC และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ครบวงจร โดยเริ่มดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี และพัฒนากำลังคนดิจิทัลไปแล้วไม่น้อย 500 ราย จากหลักสูตร Data Science และAI ขั้นพื้นฐาน และขั้นสูง  

หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิด ศูนย์ความร่วมมืองานวิจัยและพัฒนา PTTEP-ARV-VISTEC R&D Collaboration Center (RDCC) โดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการวิจัย พัฒนา และทำงานร่วมกัน อาทิ งานเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม  งานด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์

จากนั้น ได้ทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC ในพื้นที่EECi เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานใน EECi ให้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยแบ่งแผนการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาด้านโรงงานต้นแบบและพื้นที่ทดสอบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตปิโตรเลียม ระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก และรองรับธุรกิจใหม่      

หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ(Intelligence Operation Center หรือ IOC) ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ  (Smart City) ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์ที่จะต้องมีศูนย์กลางในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของเมืองอย่างเบ็ดเสร็จและมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบปฏิบัติการและระบบติดตามที่ทันสมัย ผนวกกับการแสดงผลแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง โดยศูนย์แห่งนี้จะสามารถควบคุมและวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคแล้ว IOC ยังเป็นศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน (Emergency Command Center) และเป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง ประสานงาน สั่งการ และบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินต่างๆ หากเกิดขึ้นภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เป็นโครงการที่กลุ่ม ปตท. มุ่งพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ในการยกระดับขีดความสามารถของไทย และรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายThailand 4.0 และนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการพัฒนาในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform บนพื้นที่ 3,454 ไร่ของโครงการฯ แบ่งออกเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) และพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone) ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้รับการประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จึงนับได้ว่าวังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ของประเทศไทยต่อไป