กรมศุล โชว์สถิติจับ”บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่” ลับลอบนำเข้ากว่า 263 ล้านบาท

  • เดือนก.ย.ที่ผ่านมาจับสินค้าผิดกฎหมายได้ 1,460 คดี
  • ชี้ปีงบประมาณ 2563 จับกุมสินค้าเถื่อนได้กว่า 3,258 ล้าน

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่าในเดือนก.ย. 2563 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร จำนวน 1,460 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 243 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำความผิดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ตั้งแต่เดือนต.ค. 2562 – ก.ย. 2563) ทั้งสิ้น 24,508 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,258 ล้านบาท

สำหรับการจับกุมที่น่าสนใจ คือ การจับกุมบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ทำการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าทางเรือ พบบุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ  จำนวน 1,040 หีบห่อ (CT) ปริมาณ 520,000 ซอง ถือเป็นการนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อห้าม อันเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามมาตรา 202 และมาตรา 244 ประกอบ มาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และ พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 46 ล้านบาท

“ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2563 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพได้ทำการตรวจสอบพบบุหรี่ละเมิดเครื่องหมายการค้า จำนวน 1,000 หีบห่อ (50 COTTON/หีบห่อ) (10 ซอง/COTTON) ปริมาณรวม 500,000 ซอง (20 มวน/ซอง) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 43.9 ล้านบาท”

ทั้งนี้สถิติการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่เดือนต.ค. 2562 –ก.ย.2563 มีการจับกุมแล้วทั้งหมด  1,798 คดี มูลค่า 263.6 ล้านบาท จำนวนคดี ได้แก่ 1. บุหรี่ จำนวน 849 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 248.5 ล้านบาท 2. บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 656 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 15.1 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 กรมศุลกากรตรวจพบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่แสดง(สำแดง) เป็นสิ่งปรุงแต่งที่มีกลิ่นหอม ผ่านทางสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้เมื่อส่งสินค้าตัวอย่างให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบ พบว่า เป็นสินค้าที่เข้าข่ายเป็นเครื่องมือแพทย์ ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 สินค้าเข้าข่ายเป็นยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และสินค้าที่เข้าข่ายเป็นอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นการนำของต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000 บาท