กรมการแพทย์ เผยอัตราครองเตียงรับรองผู้ป่วยโควิด 19 หลังสงกรานต์

  • ทั่วประเทศมีเตียงรักษาโควิดประมาณ 1.8 แสนเตียง
  • อัตราครองเตียงประมาณ 35.8%
  • หลังสงกรานต์ยอดติดเชื้อเพิ่ม

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ รัฐบาลโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน จึงมอบหมายให้กรมการแพทย์ดำเนินการบริหารจัดการเตียงร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลภาคีเครือข่าย UHosNeT กรุงเทพมหานคร กลาโหมโรงพยาบาลเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครกลุ่มปฏิบัติการด้านการจัดการเตียงและรักษาพยาบาล UHosNeT BKK กรมการแพทย์ทุกสัปดาห์ เพื่อ UPDATE สถานการณ์ภาพรวมการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ประเมินสถานการณ์และศักยภาพเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งภาพรวมของประเทศด้วย ขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยการติดเชื้อในเด็กมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อเดือนมกราคม ส่วนกลุ่มที่เสียชีวิต อาการหนักยังเป็นกลุ่มสูงวัยกลุ่มเปราะบาง มีโรคเรื้อรัง ติดบ้านติดเตียง ที่รับเชื้อจากคนใกล้ชิด สำหรับการเสียชีวิตในเด็ก พบว่า มากกว่า50% เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่มีโรคร่วม และเกือบทั้งหมด ไม่มีข้อมูลได้ฉีดวัคซีน ด้านการรักษาขณะนี้ทั่วประเทศมีเตียงรักษาโควิดประมาณ 1.8 แสนเตียง อัตราครองเตียงประมาณ 35.8%

ทั้งนี้การระบาดของโควิด 19 ในขณะนี้มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจากก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนมากเป็นกลุ่มอาการสีเขียว การรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเป็นรูปแบบ Home Isolation (HI) / Community Isolation (CI) และแบบผู้ป่วยนอก หรือ “เจอ แจก จบ” (Outpatient with Self Isolation :OPSI) จึงยังมีเตียงรองรับกลุ่มอาการหนัก สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 เป็นไปตามแนวทางการรักษา (CPG) ของกรมการแพทย์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการ​หรือ​สบายดี​ ไม่ต้องกินยา​ต้านไวรัส​ อาจให้ยาฟ้าทลายโจรขึ้นกับ​ดุลยพินิจของแพทย์​ 2. กลุ่ม​ทึ่มีอาการ​ไม่รุนแรง​ ไม่มีปอดอักเสบ​ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง พิจารณาให้ Favipiravir เร็วที่สุด 3. กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง​ ต่อโรครุนแรง​หรือ​กลุ่มที่มีปอดอักเสบ​ แต่ยังไม่ต้องให้​ออกซิเจน​ พิจารณาให้​ยาต้านไวรัส​เร็วที่สุด​ ตัว​ใดตัวหนึ่ง​ ตาม​ CPG​ ของกรมการแพทย์ ได้แก่ Favipiravir หรือ Remdesivir หรือ Molnupiravir หรือ Nirmartelvir/ritonavir (Paxlovid) โดยประเมินจาก​ประวัติวัคซีนและ​​ปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง​ และ4. กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน พิจารณาให้ Remdesivir เร็วที่สุด ทั้งนี้ การรักษาในผู้ป่วยกลุ่มเด็ก มีแนวทางรักษา คือ การให้ยา Favipiravir ชนิดเม็ดและชนิดน้ำ ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง และ Remdesivir ในกลุ่มอาการปานกลางถึงรุนแรง ส่วนการรักษาในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีแนวทางคือ การให้ยา Remdesivir และอาจพิจารณาให้ Favipiravir ในไตรมาสที่ 2-3 พิจารณาเป็นกรณี ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โรคประจำตัว และประวัติการได้รับวัคซีน เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด