“กมธ.คมนาคม” ชี้กรณี “หมอกระต่าย” ยกเป็นบทเรียน ติงหน่วยงานรัฐหากทำตามผลศึกษาที่เสนอไป 2 ปีก่อน คงไม่เกิดเหตุร้าย

วันนี้ (27 ม.ค.65) ที่รัฐสภา นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเรื่อง “มาตรการความปลอดภัยทางถนน” โดยยกกรณี “รถบิ๊กไบค์ชนแพทย์หญิงเสียชีวิต” มาพิจารณาแก้ปัญหา ว่า เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องสำคัญที่กรรมาธิการดำเนินการมาตลอด และเคยส่งความเห็นของอนุกรรมาธิการความปลอดภัยทางถนนที่เคยศึกษาไว้แนะนำไปยังหน่วยงานต่างๆของรัฐปฏิบัติตามเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 

“เชื่อว่าหากหน่วยงานนำไปดำเนินการจะไม่เกิดความสูญเสียเช่นวันนี้ ซึ่งตนขอยกตัวอย่างลูกชายก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดกฎจราจร จึงอยากให้สังคมตระหนักความสำคัญ เอาบทเรียนเคสนี้ขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยให้สำเร็จ และจะประสบความสำเร็จฝ่ายบริหารต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้” นายโสภณ กล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่กรรมาธิการให้ความเห็นต่อหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจง ว่าควรให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.จิตสำนึกที่ควรควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งควรแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับจราจรอย่างเป็นระบบ 2.การใช้โครงข่ายถนน และ3.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนศาล มาให้ข้อสังเกตถึงการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การรอลงอาญา  การเยียวยาผู้เสียหาย เรื่องจบแต่ ผู้ที่กระทำความผิดก็ไม่ได้เกรงกลัว

“ทางกรรมาธิการได้กำชับตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องการดำเนินคดีว่าต้องทำอย่างตรงไปตรงมาอย่าให้กรณีของหมอซึ่งเสียชีวิตทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดต้องมาตายฟรีและการดำเนินคดีของทางตำรวจทุกสายตาก็เฝ้ามองคดีนี้อยู่การดำเนินคดีต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรมเพื่อไม่ให้สูญเสียและดราม่าอีก” นายโสภณ กล่าว

ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการคมนาคม เปิดเผยว่าตนเป็นเหยื่อที่ถูกรถชนเมื่อปี 2531 จึงเห็นควรกับการปฏิรูปเรื่องดังกล่าว และในเบื้องต้นจากการชี้แจงของ กรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.)ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แจ้งว่าพล.อ.ประวิตร ได้สั่งการไปยังจังหวัดต่างๆ ไปตรวจสอบเส้นทางม้าลาย และการจราจรในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกรรมการชุดนี้จะประชุมในช่วงบ่ายวันนี้ (27 ม.ค.) โดยกรรมาธิการจะรอติดตามผลการประชุมเชื่อว่า เมื่อมีการสั่งการไปแล้ว ผู้ปฏิบัติในจังหวัดต่างๆจะเร่งดำเนินการ

ส่วนการชี้แจงของตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องของการดำเนินคดีอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบความเร็วของรถ ซึ่งจุดที่เกิดเหตุไม่ได้มีการกำหนดความเร็วของรถ ขณะที่กรมขนส่งทางบกกรรมาธิการได้เสนอให้แยกประเภทใบขับขี่บิ๊กไบค์ กับใบขับขี่รถจักรยานยนต์ปกติ ส่วนเรื่องการกระทำผิดจราจรและถูกตัดแต้ม ทางกรมขนส่งทางบกชี้แจงว่า ยังไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจังเนื่องจากรอลงนามความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“กรรมาธิการยังไม่เป็นที่พอใจ ในการชี้แจงตัวแทนจากกลุ่มกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เน้นเรื่อง จำนวนคนข้ามถนนและอ้างเรื่องทางม้าลายมีหลายแห่ง ทั้งที่กรรมาธิการต้องการทราบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรกับจุดที่เกิดเหตุ และจุดอื่นๆอื่นๆที่มีลักษณะที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน ทาง กทม.ยังชี้แจงไม่ชัดเจนว่าทางม้าลายได้มาตรฐานหรือไม่ และไม่ใช่เพียงทาสีใหม่ หลังเกิดเหตุเท่านั้น และต้องดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่มวยล้มต้มคนดู” นายนิกร กล่าว