กกร.โยนผ้าขาวเหตุโควิดระลอก3 ซัดเศรษฐกิจดิ่งเหว

  • ชี้เปรี้ยงเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยขั้นต่ำ3เดือน
  • ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ1.5-3% เงินเฟ้อเพิ่มเป็น1-2%
  • แต่กล้าสวนกระแสส่งออกจะขยายตัว4-6%ในปีนี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วยส.อ.ท. ,สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย ,สมาคมธนาคารไทย ได้หารือถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือนเม.ย.นี้ ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศขั้นต่ำ3 เดือน นับจากนี้ไป ซึ่งจะกระทบต่อแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว, กำลังซื้อของประชาชนและแรงงานภาคบริการ ต้องหยุดหรือลดชั่วโมงทำงาน

ดังนั้นกกร.จึงปรับประมาณการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ปีนี้ ใหม่จากเดิมเดือนมี.ค.ที่ ได้ประเมินว่าจีดีพีจะเติบโต1.5-3.5% ให้เหลือเพียง เป็น 1.5-3% เงินเฟ้อจากเดิมท่ีเคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.8 -1% ก็ปรับเป็น 1-2% และการส่งออกเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3-5% ก็จะเพิ่มเป็น 4-6% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลก เริ่มกลับมาฟื้นตัว จากการเร่งฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ และการอัดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะสหัฐฯ จะทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าจากหลายๆประเทศเพิ่มขึ้น เป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทยในปีนี้

“กกร.ก็ยอมรับว่าสภาพ เศรษฐกิจไทย ยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมาก จากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่อความต้องการบริโภคในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาล จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีอยู่ในมือขณะนี้ 200,000 ล้านบาทเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมท้ังขยายระยะเวลามาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการและแรงงาน ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค
ที่สำคัญรัฐบาล จะต้องเร่งกระจายฉีดวัคซีน ที่จะสร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด และจะทำให้ภาพของความต้องการบริโภค ในประเทศกลับมาฟื้นตัว ได้อย่างรวดเร็ว หากรัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จีดีพีก็มีโอกาสจะลดลงได้อีก 1-2%”

ท้ังนี้ กกร. จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานใน 4 ด้านโดยจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อสรุปรายละเอียดและรวบรวมข้อเสนอถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1. คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่อง การขนส่งและสถานที่ในการฉีด เช่น ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น 2. คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยประสานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน

3. คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงาน ต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีด จนถึงการออกใบรับรอง และการจัดทำระบบ Vaccine Passport เพื่อใช้แสดงในการเดินทาง ไปสถานที่ต่างๆ 4. คณะทำงานเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการภาคเอกชน ในการซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น โดยมีผู้ซื้อแสดงความจำนงมาแล้ว 5 ล้านโดส และขอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา( อย. )ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น