โควิด-19 ขวิดกระทิงล้ม สำรวจ…ตลาดหุ้นทั่วโลก



หลังจาก “สัปดาห์แห่งความเลวร้าย” ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยทิ้งดิ่งลงอย่างรุนแรง จากปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะความตื่นตระหนกของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด -19 ที่ทั้งกระจายตัว และเร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการระบาดลุกลามไปทั่วโลก รวมทั้งการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วใยระยะหลังของประเทศไทย

ซึ่งตรงกันข้าม ความล่าช้าในการบริการจัดการสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล ทั้งเรื่องหน้ากากอนามัย การคัดกรองและกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ การตัดสินใจในการควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาด รวมทั้ง การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่ตรงจุด ชักเข้าชักออก

โดยทั้งหมดล้วนทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้ สถานการณ์โกลาหลที่สุ่มเสี่ยงจะควบคุมไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ !!!
จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นแรงขายของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงอย่างรุนแรง และเมื่อเทียบวันนี้กับต้นปีที่ผ่านมา (Year- to-date ) ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแล้ว 28.54% หรือดัชนีลดลงไป 450.83 จุด

เป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งก็ได้รับแรงกระทบจากโควิด -19 เช่นกัน
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงไปทำนิวโลว์ ราคาหุ้นกลับไปเริ่มต้นใหม่ในรอบเกือบ 8 ปี !!!

ขณะที่นักวิเคราะหฺส่วนใหญ่มองดัชนีหุ้นไทยรอบนี้ น่าจะลงไปต่ำกว่า 1,000 จุด ในระหว่างที่รอดูวันยุติสถานการณ์การณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่ไวรัสโควิด-19 เข้าโจมตีตลาดหุ้นของไทย ไวรัสโควิดก็ขวิดกระทิงล้มไปหลายตัวเช่นกัน ในตลาดหุ้นต่างประเทศ

ลองมาสำรวจดูกันว่า ดัชนีหุ้นทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันศุกร์ที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์เป็นอย่างไร บาดเจ็บแค่ไหนกันบ้างรวมทั้งมีตลาดไหนหรือไม่ ที่สร้างเซอร์ไพร์ส ทำกำไรในท่ามกลางวิกฤตโรคร้ายที่แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นในรอบเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา

โดย ต้องขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซด์ “สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น” ที่ได้รวบรวมไว้ และมีบางตลาดที่รวบรวมขึ้นมาด้วยตัวเอง
เริ่มต้นจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ซึ่งเพิ่งจะประกาศเข้าสู่ “ภาวะหมี” อย่างเต็มรูปแบบ สิ้นสุดยุคกระทิงที่ดำเนินมาถึง 11 ปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 2,353 จุด ซึ่งถือเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ “แบล็คมันเดย์” เมื่อวันที่ 19 ต.ค.1987 (พ.ศ.2530)

โดยหากเทียบตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ ปรับลดลงไปแล้ว 18.76% โดย 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 10.36%

ทั้งนี้ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 และแนสแด็ก คอมโพซิส ก็ติดลบเช่นกัน โดยตั้งแต่ต้นปี ดัชนีแนสแด็ก ปรับลดลงไปแล้ว 12.23% โดย 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 8.17% ขณะที่ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับลดลงจากต้นปี 16.09% โดย 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 8.79%

ขณะที่ในอเมริกาใต้ ดัชนีหุ้น Brazil Bovespa ของบราซิล ร่วลงตั้งแต่ต้นปีไปแล้ว 28.51% โดย 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 15.63% ขณะที่ในอเมริกาเหนืิิอ ดัชนีตลาดหุ้นแคนนาดา ปรับลดลงแล้ว 18.34%
ข้ามฝั่งมาที่หุ้นยุโรป ซึ่งขณะนี้กลายเป็นแหล่งการระบาดอย่างรุนแรงที่สุดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยอัตราการเร่งตัวขึ้นของผู้ติเชื้อประมาณ 25% ในแต่ละวัน

ตลาดพี่ใหญ่ หรือ ดัชนี DEUTSCHE BORSE DAX ของเยอรมณี ลดลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ค่อนข้างแรง โดยติดลบไปแล้ว 31.36% โดย โดย 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 21.21% ด้าน FTSE 100 ของอังกฤษ ตั้งแต่ต้นปีลดลงไปแล้ว 29.89% และ 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 16.97%

ขณะที่ หุ้นฝรั่งเศส ดัชนี CAC 40 วันศุกร์ที่ผ่านมาเทียบต้นปี ลดลง 32.07% ขณะที่ 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง19.86%

ตลาดเอเซีย ซึ่งได้รับแรงกระแทกจากโควิด -19 มากที่สุด ดัชนีนิเคอิ225 ของญี่ปุ่น ร่วงลงเมื่อเทียบกับต้นปีนี้แล้ว 26.32% ขณะที่ 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 15,99% ดัชนีคอมโพซิส ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ลดลง21.77% ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็ง ของฮ่องกง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้กลับลดลงไม่มาก โดยลดลง 14.05 % ขณะที่ 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 8.08%

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นของจีน ต้นตอของการแพร่ระบาด หากเทียบตั้งแต่ต้นปี 2563 ดัชนีแซี้ยงไฮ้ คอมโพซิส ลดลงเพียง 5.33% ในขณะที่ 5 วันทำการที่ผ่านมาลดลง 4.85% ด้วยซ้ำ ขณะที่ไตหวัน เวสต์เติด ร่วงลงไป 15.57% ขณะที่ดัชนี SENSEX ของอินเดีย ร่วงลงไปตั้งแต่ต้นปี 17.44%

สรุปว่า ไม่มีเซอร์ไพร์สใด ๆ ทุกตลาดแดงเถือกโดยเท่าเทียมกัน

อ่านแล้ว สนใจอยากจะช้อนหุ้นในประเทศ หรือจะข้ามไปลงทุนในต่างประเทศ ก็แล้วแต่จัดสรร เพราะสถานการณ์จุดนี้คงไม่มีใครต้องรีบร้อน คนที่ติดดอย เงินหมด ก็จะนิ่งๆ หน่อย ส่วนชาวสวนที่ยังมีเงินคงเลือกชอปหุ้นตามสบาย แต่จะเลือกแบบไหน มองให้รอบด้าน เพราะสายแพทย์ คาดการณ์ว่ากว่าสถานการณ์จะสงบได้คงอีกนาน โดยไวรัสนี้จะเริ่มดีขึ้นได้ในเดือน มิ.ย.