จับตา สว.เดินเกมหาข้อยุติ ปมร้าวลึกบอร์ด กสทช.



ปมร้าวลึกภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากการไม่ลงรอยกันของบอร์ด กสทช.ทั้ง 7 คน ทั้งเรื่องการมุมมองการใช้กฏหมาย ความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงกระบวนการเลือกเลขานุการ กสทช. ที่ลากยาวมาเป็นปี กระทบต่อภาพรวมการทำงานของทั้งองค์กร จนล่าสุดวุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยการตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. เกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติของกฏหมายที่ไม่ตรงกัน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีพ..

ในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการระบุไว้ชัดเจนถึงขอบเขตหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.พิจารณาศึกษาแนวทางการแต่งตั้งเลขาฯ กสทช.ตามพรบ.กสทช. 2553

  1. รับฟังสภาพปัญหา และแนวทางแก้ไข ประสางานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในกสทช. และ 3.จัดทำรายงานผลการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อรายงานต่อวุฒิสภาภายใน 90 วัน

หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะอนุกรรมาธิการก็เดินหน้าจัดประชุมนัดแรกทันทีในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. ที่ห้องประชุมรัฐสภา โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการสรรหาเลขาฯกสทช.เป็นอันดับแรก มีการเปรียบเทียบข้อมูล เอกสารการแต่งตั้งเลขาฯกสทช. กับเลขาฯองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ

ทั้งนี้การประชุมนัดแรกของคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นวันเดียวกับที่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เรียกประชุมบอร์ด กสทช. ซึ่งแตกต่างจากทุกครั้งที่จะประชุมในวันพุธ แต่ครั้งนี้ประธาน กสทช. พยายามเรียกประชุมในวันศุกร์ ในขณะที่บอร์ดเสียงข้างมาก 4 คนต่างแย้งว่าติดภารกิจ ตั้งแต่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ติดประชุมเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงที่จังหวัดเชียงใหม่ ดร. พิรงรอง รามสูต ติดงานเป็นองค์ปาฐกและรับฟังรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรมสื่อดิจิทัลฯ ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และกสทช.อีก 2 คน ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ มีภารกิจพบนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อประชุมวาระ Digital Economy Framework Agreement ที่เป็นส่วนสำคัญของนโยบายรัฐบาล และเป็นนโยบายเร่งด่วนในการวางรากฐานเศรษฐกิจประเทศ.

แม้ว่าจะได้รับการโต้แย้งจากบอร์ด 4 คน แต่ประธาน กสทช. ได้เรียกประชุมบอร์ดตามปกติในวันที่ 3 พ.ย.ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเพียง 3 คนไม่ครบองค์ประชุม ตามคาดหมาย ซึ่งการประชุมบอร์ด “ล่ม” เกิดขึ้นหลายครั้ง จากการขัดแย้งภายในบอร์ดกสทช.เองเมื่อจะต้องพิจารณาวาระสำคัญและมีความเห็นแตกต่างกัน และจากการที่ กสทช.บางคนติดเดินทางต่างประเทศบ่อยครั้ง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมวุฒิสภา สว.จำนวนหนึ่งได้อภิปรายเรียกร้องให้ กสทช.หยุดทะเลาะกันเอง ที่ส่งผลต่อการทำงาน ทำให้ประชาชนสงสัยไม่ศรัทธา และปมเรื่องความพยายามรวบอำนาจจัดการสรรหาแต่งตั้งเลขาฯ กสทช.โดยอ้างเป็นอำนาจของประธาน กสทช.เพียงผู้เดียว รวมถึงประเด็นการใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดทริปไปต่างประเทศ แม้ว่าได้มีการเปิดให้ประธาน กสทช.ชี้แจงในที่ประชุม แต่ยังไม่มีความชัดเจน และมีหนทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆได้

บทบาทของวุฒิสภาตามกฏหมายที่ชัดเจน คือเป็นผู้ที่มีอำนาจในการถอดถอน กรรมการ กสทช. ดังนั้นการขยับเข้ามา “จัดการ” ปัญหาความขัดแย้งในบอร์ด กสทช.จึงเป็นก้าวย่างที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

อาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ผลักดันโดย สว.ชุดที่กำลังจะหมดอายุในกลางปีหน้าก็เป็นได้