ถอดบทเรียนเหตุกราดยิงโคราช-หนองบัวลำพู สู่สยามพารากอน

ถอดบทเรียนเหตุกราดยิงโคราช-หนองบัวลำพู สู่สยามพารากอน คำแนะนำ หลีกเลี่ยงการสร้างการลอกเลียนแบบ
  • หลีกเลี่ยงการสร้างตัวตนให้ผู้ก่อเหตุ
  • ไม่แชร์คลิป ภาพ เสียง ของผู้ก่อเหตุและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • ไม่อธิบายขั้นตอนการก่อเหตุ การเตรียมการ เหตุจูงใจ
  • สร้างระบบเตือนภัยทันเหตุการณ์
  • ควบคุมปราบปรามอาวุธปืน
  • วางมาตรการเข้มข้นตรวจสอบอาวุธ

วันที่ 19 มีนาคม 2564  นายกรัฐมนตรีหญิงนิวซีแลนด์ “จาซินดา อาร์เดิร์น” ได้กล่าวในรัฐสภาถึงเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิด 2 แห่ง ที่นครไครสต์เชิร์ชว่า  “เราจะเอ่ยถึงแต่ชื่อผู้ที่สูญเสีย แต่จะไม่เอ่ยถึงชื่อผู้ที่ฆ่าพวกเขา เขาอาจอยากแสวงหาชื่อเสียง แต่พวกเราจะไม่ให้อะไรกับเขา ไม่แม้แต่ชื่อของเขาเอง”

“Speak the names of those who were lost rather than the man who took them. He may seek notoriety, but we in New Zealand will give him nothing, not even his name.”

Jacinda Ardern – Prime Minister of New Zealand

ขณะที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็บอกกับสื่อมวลชนว่า “ขอบอกน้องๆ(สื่อมวลชน)อย่าไปให้ความสำคัญมาก มันจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

สอดคล้องกับข้อแนะนำ เพื่อตัดวงจรการลอกเรียนแบบเหตุความรุนแรง ของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนและทุกคน เรื่อง ทิศทางการสื่อสาร เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ข้อแนะนำ เพื่อตัดวงจรการลอกเรียนแบบเหตุความรุนแรง ของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งที่ไม่ควรทำคือ 1.การเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติและแรงจูงใจในการก่อเหตุของผู้กระทำผิด 2.การสื่อความในลักษณะที่ทำให้ผู้ก่อเหตุดูเท่ ดูเก่ง  3.การรายงานเน้นจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ เปรียบเทียบว่า ครั้งนี้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บ มากกว่าหรือน้อยกว่าครั้งก่อนเท่าไหร่

สิ่งที่ควรทำ 1.ไม่เอ่ยชื่อ ไม่ให้ตัวตนคนร้าย 2.นำเสนอเรื่องราวของผู้ประสบเหตุแทน เพื่อสร้างตัวแบบทางบวกว่าคนเหล่านี้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายร่วมกันมาได้อย่างไร 3. เล่าเรื่องราวของผู้ที่แจ้งเหตุก่อน ผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น 4.อัปเดตเหตุการณ์ตามจริง ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์ 5.เน้นเรื่องการป้องกันและเยียวยา

เท่าที่ได้ติดตามในสื่อมวลชนและการแชร์ในโลกโซเชียล มีการนำเสนอภาพ และเรื่องราว บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวนักเรียน ระบุชื่อโรงเรียน มีการนำเสนอคลิปในโทรศัพท์ของผู้ก่อเหตุ คลิปใบหน้าของผู้ก่อเหตุ คลิปการจับกุม ภาพการสอบสวนเด็กในที่เกิดเหตุ น รวมถึงการนำเรื่องราวลำดับขั้นตอนต่างๆของผู้ก่อเหตุ (แค่นี้พอ…ไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียด) และลามไปถึง การตามไปขุดคุ้ย พร้อมโจมตีต่อว่า พ่อแม่ของผู้ก่อเหตุในโซเชียลส่วนตัว

สรุปว่า ยังมีการกระทำที่ไม่ฟังคำเตือนเรื่องที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ การสร้างให้ผู้ก่อเหตุมีตัวตน บางคนอาจไม่รู้ สังคมก็ต้องร่วมกันให้ความรู้ สิ่งที่ควรแชร์ ไม่ควรแชร์ ตามที่นักจิตวิทยาแนะนำ และการแชร์คลิปออกไปสู่สายตาชาวโลก จะนำไปสู่เรื่องราวบานปลายตามมาอีกอย่างที่ไม่อาจคาดถึง

ใช่ว่าในโลกโซเชียลจะมีแต่การแชร์ภาพ คลิป เรื่องราวเหตุการณ์ ที่ไม่ควรเผยแพร่ แต่ในอีกแง่ ก็มีผู้เสนอแนวทางป้องกัน แก้ไข ถอดบทเรียนเรื่องราวต่างๆที่ควรจะสร้างให้เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

วิธีเอาตัวรอดในเหตุกราดยิง

ข้อเสนอที่สำคัญ

  • คำแนะนำการเอาตัวรอดเมื่อเผชิญเหตุ “หนี ซ่อน สู้” มองหาเส้นทางหลบหนี ทิศทางเข้าออกไว้ล่วงหน้า ทิศทางการหนีในทิศตรงกันข้ามกับเสียงปืน อย่าเข้าไปในมุมอับ
  • คำแนะนำเรื่องที่ควรมีระบบการส่งข้อความเตือนภัยอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น
  • คำแนะนำเรื่องการตรวจสอบอาวุธ ก่อนเข้าห้าง หรือสถานที่รวมตัวของคนจำนวนมาก ต้องเข้มงวด
  • คำแนะนำเรื่องการปราบปรามการใช้อาวุธปืน การครอบครอง การจำหน่าย ในประเทศไทย
  • คำแนะนำเรื่องการซ้อมรับมือเหตุการณ์
  • คำแนะนำเรื่องการเฝ้าสังเกตคนรอบข้าง ที่มีพฤติกรรมผิดไปจากคนปกติ

สิ่งเหล่านี้ นอกจากรัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการวางมาตรการที่เข้มข้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้นานาชาติเห็นแล้ว สังคมไทย คนไทยทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแลสังคม ดูแลคนใกล้ตัว ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมใจกันสกัดกั้นไม่ให้เกิดเหตุเลียนแบบ ซ้ำรอย เช่นนี้อีก ทุกครั้งที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้

“ถ้าไม่ตระหนัก ปล่อยผ่านเลยไป ไม่ถอดบทเรียน ไม่แน่เหยื่อรายต่อไปอาจจะเป็นเรา ลูกเรา พ่อแม่ คนในครอบครัวเราก็เป็นได้”

คนชายขอบ

ช่องทางติดตาม The Journalist Club