ใช้เงินเท่าไรถึงจะพอ…ฟื้นเศรษฐกิจ

หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในวิกฤตโควิด-19 มาแล้วกว่า 6 เดือน รัฐบาลทุกประเทศในโลกน่าจะรับรู้แล้วว่า “โลกในยุคโควิดน่าจะสร้างผลกระทบรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดคิดไว้”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความซบเซาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ในครั้งนี้มีโอกาสสูงมากที่จะลากยาวไปอีกประมาณ 2 ปี หรือสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในกลางปี 2565

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ไอแอลโอ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเกือบทุกประเทศทั่วโลกใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดกิจการธุรกิจ ปิดการเดินทางระหว่างเมือง ระหว่างประเทศ ส่งผลให้จะมีคนตกงานทั่วโลก ไม่ต่ำกว่า 195 ล้านคนในสิ้นปีนี้

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การหยุดชะงักครั้งนี้จะทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจทั่วโลกไม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 ปี  และต้องใช้ “เม็ดเงิน” มหาศาลเพื่อบรรเทาผลกระทบการดำรงชีพของประชาชน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้จะช่วยประคองเศรษฐกิจได้ แต่การใช้ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ก็มีต้นทุนที่สูง และสร้างภาระในอนาคต ดังนั้น “จำนวนเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และประสิทธิผลที่เข้าเป้าหมาย” จึงต้องสมดุลกัน 

ในต่างประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกที่ออกมานั้น (คิดเฉพาะนโยบายการคลัง) หลายประเทศใช้เงินสูงถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบแรก 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรใช้เงิน 4.6 แสนล้านปอนด์  หรือญี่ปุ่น ที่ใช้เงิน 62.5 ล้านล้านเยน

ส่งผลให้สัดส่วนหนี้หนี้สาธารณะทั่วโกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และสูงกว่าเกณฑ์ความยั่งยืนที่ส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อ GDP เช่น ญี่ปุ่น มีสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 251.9% ต่อ GDP อิตาลี มีหนี้สาธารณะ 155.5% ต่อ GDP สหรัฐฯ 131.1% ต่อ GDP รวมทั้ง ฝรั่งเศส ที่มีหนี้สาธารณะ 115.4% ต่อ GDP

ขณะที่ประเทศไทย ในส่วนมาตรการการคลัง รัฐบาลใช้เงินในมาตรการเยียวยาฯ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 6%ของ GDP และเมื่อกู้เงินจำนวนนี้ทั้งหมดแล้วหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 51.8% ต่อ GDP 

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ที่ยังแพร่ระบาดในอัตราที่สูง โดยทั่วโลก มีทั้งประเทศที่ยังอยู่ในการระบาดรอบที่ 1 การกลับมาระบาดรอบ 2  ทำให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเป็นไปได้ยาก ขณะที่การเปิดให้ทำธุรกิจที่ต้องทำภายใต้วิถีใหม่ ทำให้แม้มีการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน รัฐบาลทุกประเทศ กำลังเตรียม “เงินก้อนใหม่” และมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ต่อเนื่อง โดยคาดกันว่า มาตรการชุดใหม่จะใช้เงินไม่น้อยกว่ามาตรการรอบแรก  อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่รัฐบาลออกมายอมรับว่า มีงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจที่จำกัดจำเขี่ยมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าเงินจากมาตรการรอบแรก ในส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ยังอยู่ในระหว่างคัดเลือกโครงการ แต่มุมมองของนักธุรกิจ นักวิชาการ ประเมินแล้วว่า “น่าจะไม่เพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้” หากยังไม่มี “เม็ดเงินต่างประเทศ” เข้ามาเพิ่มขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ โดยตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวใหม่ของไทยเป็นศูนย์ หรือติดลบ 100% ทุกเดือน การส่งออกแม้เริ่มดีขึ้น แต่ภาพรวมคือการติดลบที่สูง 2 หลัก

ในภาคธุรกิจ เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานเครือซีพี ให้ความเห็นไว้ในช่วงก่อนหน้าว่า จำนวนเม็ดเงินรัฐที่ควรส่งเข้าระบบ ที่จะเกิดผลเพียงพอให้เศรษฐกิจฟื้น ควรจะอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท หรือมาตรการใน ก็อก 2 นี้ควรมีเม็ดเงินกระตุ้นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท 

ขณะที่นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ มองว่าเม็ดเงินสำหรับมาตรการกระตุ้นชุดใหม่ ไม่ควรต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งยังคงใช้เยียวยารายได้ที่หายไป และอีกส่วนใช้เพื่อสร้างงานใหม่ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจฐานดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังยุคโควิด-19 

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามหลักเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลยังมีความสามารถใน “การกู้เงิน” อีกเท่าไรนั้น พบว่า หากรัฐบาลตัดสินใจกู้เงินในมาตรการกระตุ้นรอบ 2 ด้วยวงเงินอีก 1 ล้านล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ  GDP ทะลุเกณฑ์การบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของ GDP ไปค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์นี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นตรงกันว่า เป็น “ข้อยกเว้น” โดย ธปท.ระบุว่า “การมีหนี้สาธารณะเกินเกณฑ์ในบางช่วง ไม่ได้หมายความว่า ฟ้าจะถล่ม แผ่นดินจะทลายเสียทีเดียว หนี้สาธารณะสามารถปรับสูงขึ้นได้หากมีเหตุจำเป็น และขณะนี้หลายประเทศมีหนี้ทะลุเพดานไปนานแล้ว 

นอกจากนี้ งานศึกษาชื่อดังในปี 2010 ของศาสตราจารย์ Reinhart และ Rogoff แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเคยชี้ให้เห็นว่า ระดับหนี้สาธารณะที่สูงเกินกว่า 90% ต่อ GDP จึงจะมีความสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ  และลำพังระดับหนี้สาธารณะที่สูงอย่างเดียวอาจไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจโตลดลงเสมอไป 

ทั้งนี้ สิ่งที่ ธปท.เป็นห่วงมากกว่า คือ ภาระดอกเบี้ยจ่ายเทียบกับรายได้ของรัฐ  ซึ่งเปรียบได้กับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในแต่ละเดือน หากอยู่ในระดับที่สูงมาก รัฐบาลก็มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น แต่สิ่งที่ดีคือ สัดส่วนดังกล่าวในขณะนี้อยู่ที่ 5.2% ต่อรายได้เท่านั้น ทำให้ยังมีพื้นที่ในการกู้เงินเพิ่มเติมได้

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด การจะกู้เงินเพิ่มเพ่ือกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 หรือรอบ 3 หรือไม่และเท่าไรนั้น รัฐบาลไทย ซึ่งกำลังจะมี “ทีมเศรษฐกิจ” ชุดใหม่จะเป็นผู้ตัดสินใจ รวมทั้งเป็นผู้กำหนดโครงการ ดำเนินโครงการ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานให้สำเร็จ โดยไม่มีข้อครหาและการคอรัปชั่น 

หากมาตรการที่ออกมารอบใหม่ ใส่ไปแล้ว “ปัง” เศรษฐกิจฟื้น รัฐมีรายได้คืนเงินกู้ได้ จำนวนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไทยจะลดลงไปได้อัตโนมัติ แต่หากมาตรการ “แป้ก” หรือเงินส่วนใหญ่ไม่เข้ากระเป๋าคนไทย แต่ไปกับคอรัปชั่น นอกจาก “คนไทยวันนี้” จะไม่ปังแล้ว ลูกหลานของเรา ยังจะต้องแบกหนี้จำนวนมหาศาลต่อไปในอนาคต