เปิดซองเทคนิค “กลุ่มซีพี” ชิงสนามบินอู่ตะเภา วันที่ 24 ต.ค.นี้

  • เดือน พ.ย.ได้เห็นชื่อเอกชนผู้ชนะ
  • เซ็นสัญญาภายใน ธ.ค.62-ม.ค.63

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรือ อีอีซี) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ต.ค.นี้คณะกรรมการคัดเลือกการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.เป็นประธาน จะประชุมเพื่อเปิดข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 ของกลุ่มซีพี ตามที่ใช้ชื่อในการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท บี.กริม จอยน์เว็นเจอร์ โฮลดิ่ง จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท โอเรียนท์ ชัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับของคณะกรรมการคัดเลือกในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี

“คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะรวบรวมคะแนนทางเทคนิคทั้งหมด ซึ่งกลุ่มซีพีต้องได้คะแนนมากกว่า 80 %จึงจะผ่านขั้นตอนเข้าไปเปิดซอง 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 จากที่ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนอีก 2 ราย คือ 1.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) 2.กลุ่มกิจการร่วมค้าแกรนด์คอนซอร์เตียม ประกอบด้วย บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น จำกัด(มหาชน) บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด(มหาชน) บริษัท GMR Group Airport ประเทศอินเดีย ได้ผ่านการพิจารณาเงื่อนไขทางเทคนิค ได้คะแนนเกิน 80 % ไปแล้ว พร้อมมีการเปิดซองราคา ซึ่งพบว่าทั้งสองรายเสนอราคามากกว่า 50,000 ล้านบาทตามที่ภาครัฐตั้งเป้าเอาไว้”

คณิศ แสงสุพรรณ

ขณะที่ตารางการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกฯจากนี้ไป จะพิจารณาให้คะแนนด้านเทคนิคของกลุ่มซีพีให้เสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ ถ้าได้คะแนนเกิน 80% ก็จะเปิดซองราคาได้ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการทำงานคู่ขนานไปกับการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ที่จะนั่งบัลลังก์วินิจฉัยชี้ขาด ว่ากลุ่มซีพีจะได้รับสิทธ์ร่วมคัดเลือกการร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วยหรือไม่ในวันที่ 4 หรือ 7 ต.ค.นี้ หากศาลตัดสินว่ากลุ่มซีพีได้เข้าร่วม ทางคณะกรรมการจะนำราคาของทั้ง 3รายมาพิจารณา ซึ่งผู้ให้ราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล จากนั้นจะเชิญเอกชนผู้ชนะการประมูลราคาเจรจาภายในเดือนธ.ค.2562 หรือต้นเดือนม.ค.2563 เพื่อลงนามสัญญาในขั้นต่อไป

เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า จากแผนมูลค่าลงทุนก่อสร้างโครงการนี้ 290,000ล้านบาท ในช่วง 5 ปีแรก ผู้ชนะการร่วมลงทุนต้องก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารอาคาร 3 ให้แล้วเสร็จ และในช่วง 15 ปีแรก พัฒนาระบบโลจิสติกส์ คาร์โก้ ศูนย์อุตสาหกรรมการบิน จากนั้นจะขยายการสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารทุก 5,10,15 ปี เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30 ล้านคนในช่วง 10 ปี และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในช่วง 15 ปี นับเป็นการใช้ทรัพย์สินที่ดินของรัฐ นำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าและสร้างประโยชน์มีรายได้เข้ารัฐมากกว่า 50,000 ล้านบาทที่เอกชนต้องจ่ายให้รัฐ เมื่อนำไปรวมกับรายได้จากที่เอกชนต้องจ่ายให้รัฐเพื่อเจ้าร่วมลงทุนในอีก 2 โครงการคือ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่3 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 จะเท่ากับเงินที่รัฐต้องลงทุนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน ที่ประมาณ 119,425 ล้านบาท เท่ากับรัฐได้โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของประเทศ