“ดุสิตโพล” ชี้ประชาชน คิดว่าความยากจน-หนี้สิน-เลิกจ้าง เป็นปัญหารุนแรง

ดุสิตโพล


“ดุสิตโพล” เผย ประชาชน 78.80% คิดว่าความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงานเป็นปัญหารุนแรง อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเพิ่มโอกาสในการทำงาน

  • อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความยากจน
  • ด้วยการเพิ่มโอกาสในการทำงาน

วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 “ดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “คนไทยกับความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน” โดยสำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนามระหว่างวันที่ 15-19กรกฎาคม 2567 จากกลุ่ตัวอย่างจำนวน 1,146 คน พบว่า

กลุ่มตัวอย่างคิดว่าปัจจุบัน “ปัญหาความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน” เป็นปัญหารุนแรง ร้อยละ 78.80 ขณะที่ ร้อยละ 21.20 ระบว่า ยังไม่รุนแรง โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 70.07 มีหนี้สิน ส่วนร้อยละ 29.93 ระบุว่าไม่มีหนี้

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า หนี้สินส่วนตัวที่มี คิดเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้ต่อเดือน ร้อยละ 39.72 ระบุ 20 – 50% ของรายได้ต่อเดือน, ร้อยละ 26.90 ระบุ ร้อยละ 51-80% ของรายได้ต่อเดือน และ ร้อยละ 24.66 ระบุน้อยกว่า 20% ของรายได้ต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตัวประชาชนเอง หรือคนใกล้ตัวเคยถูกเลิกจ้างงานหรือไม่ ร้อยละ 47.99 เคยถูกเลิกจ้าง/เห็นคนใกล้ตัวถูกเลิกจ้าง ขณะ ร้อยละ 47-99 ระบุ ไม่เคย

ด้านความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล ร้อยละ 79.02 อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเพิ่มโอกาสในการทำงาน/จ้างงานฐ ร้อยละ 67.57 อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการฝึกอาชีพ และ ร้อยละ 66.78อยากให้รัฐบาล มีระบบประกันสังคมที่เข้มแข็ง

ส่วนเมื่อถามว่า รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 79.16 อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับประชาชน ร้อยละ 70.14 ลดดอกเบี้ยเงินกู้

ส่วนปัญหาเลิกจ้างงาน อยากให้ช่วยส่งเสริมการสร้างงานใหม่/ช่วยหางานใหม่ ร้อยละ 77.34 โดยกลุ่มตัวอย่างมองว่าแนวทางที่จะทำให้คนไทย “กินดีอยู่ดีไม่มีหนี้สิน” คือ ต้องมีงานทำ มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี ร้อยละ 34.06 ส่วน ร้อยละ 21.38 เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

รัฐบาลจึงควรเน้นสร้างงาน-เพิ่มรายได้

ด้าน นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงานเป็นปัญหาที่รุนแรงและต้องแก้ไขเร่งด่วน ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องและผลกระทบจากโควิด-19 การมีหนี้สินส่วนตัวที่สูงและการเลิกจ้างงานทำให้ประชาชนรู้สึกถึงภาระทางการเงินที่หนักหน่วง รัฐบาลจึงควรเน้นการสร้างงาน เพิ่มรายได้

เพิ่มโอกาสในการทำงานและจ้างงาน ผลักดันนโยบายเรือธงที่หาเสียงไว้โดยเน้นผลลัพธ์ของโครงการ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ช่วยให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงและสามารถจัดการกับหนี้สินได้ดีขึ้น

ควรมุ่งให้ความรู้และฝึกพัฒนาทักษะดิจิทัล

อ.ดร.ศิริ ชะระอ่ำ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า การว่างงานและภาวะถูกเลิกจ้าง ซึ่งนำไปสู่ความยากจนและภาระหนี้สินของประชาชนมีสาเหตุมาจากปัญหาการขาดทักษะดิจิทัลซึ่งสำคัญจำเป็นต่อการประกอบอาชีพของแรงงานในปัจจุบัน

ผนวกกับการขยายตัวของการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคกลุ่มบัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลของสถาบันการเงินต่างๆ

ยิ่งส่งเสริมให้เกิดปัญหาพฤติกรรมการก่อหนี้ โดยขาดวินัยทางการเงินของครัวเรือนมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลในครั้งนี้ ชี้ชัดถึงความคาดหวังของประชาชน ต่อการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการจ้างงาน สร้างงาน และเพิ่มรายได้ เพื่อบรรเทาปัญหาปากท้องและภาระหนี้สิ้นให้กับประชาชน

โดยมาตรการที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ คือ การมุ่งให้ความรู้และฝึกพัฒนาทักษะดิจิทัล ซึ่งเป็น New Skill ให้กับกลุ่มผู้ว่างงานระยะสั้น และส่งเสริมโอกาสในการยกระดับทักษะอื่นๆ (Up-skill) จำเป็นต่อตำแหน่งงานตามความต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม

ชง 5 ข้อปฏิรูปการศึกษาแก้ความยากจน

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปจัดการ เป็นต้นตอของความยากจนและทำให้ประเทศติดหล่ม ไม่เจริญก้าวหน้า

และยังเป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความแตกต่างในเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้เป็นสิ่งที่มีมายาวนาน

ปัจจุบันนี้ ครอบครัวที่มีฐานะยากจนที่สุด ที่จบการศึกษาประมาณชั้นประถมฯ จะมีรายได้เพียง 1,036 บาทต่อเดือน มีประมาณร้อยละ 15 ของประชากร ขณะที่ครอบครัวชนชั้นกลางที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะมีรายได้อยู่ที่ 4,611-57,000 บาทต่อเดือน

ส่วนครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยจะมี รายได้ประมาณ 290,000 บาทต่อเดือน แสดงให้เห็นว่าการศึกษา ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการมีรายได้และเรื่องอื่นๆ

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 29,449 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 14,777 แห่ง ขนาดกลาง-ใหญ่กว่า 9,600 แห่ง ส่วนมากจะอยู่ในตัวเมืองและจังหวัดที่มีความเจริญ

แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีมากจะอยู่ในพื้นที่ชนบทและยังขาดแคลนงบประมาณ รวมถึงทรัพยากรต่างๆ จนเกิดการด้อยคุณภาพ ทำให้การต่อยอดด้านการศึกษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้เกิดปัญหาออกกลางคัน

“ในปัจจุบันมีเด็กที่ออกจากการเรียนในช่วงรอยต่อระหว่างประถมศึกษาไปมัธยม เพื่อขายแรงงานกว่า 20 ล้านคน ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขเด็กออกกลางคันจะเห็นความสัมพันธ์กันคือ

บุคคลเหล่านี้จะจบการศึกษาเพียงแค่ระดับชั้นประถมหรือมัธยมต้น หารายได้ได้เพียง 8,000-10,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ตลอดชีวิตและบางส่วนยังไม่มีทางที่จะเปลี่ยนสถานภาพทางการเงินหรือสังคมให้ดีขึ้นได้

และสิ่งที่น่าตกใจคือ พวกเขาเหล่านี้ไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษาที่จะนำมาพัฒนาตัวเอง ปัญหาต่อมาคือเรื่องครู ซึ่งทุกๆ 2 ปี ครูผู้ช่วยจะมีการย้ายออก โรงเรียนในชนบทขาดแคลนครู 6-8 เดือน เพราะไม่มีครูที่บรรจุทดแทน และครูส่วนใหญ่จะไปกระจุกกันอยู่โรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนขนาดใหญ่

ทำให้ครูที่เหลือต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของภาระหน้าที่ เมื่อครู 1 คนต้องทำ ทุกอย่างก็ไม่สามารถทุ่มเทกับเรื่องการเรียนการสอนได้เท่าที่ควร” นายสมพงษ์กล่าว

ส่วนแนวทางที่อยากจะเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมี 5 ข้อดังนี้ 1.ภาครัฐต้องมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็น พื้นฐานของปัญหาต่างๆ 2.ระบบการศึกษาต้องยืดหยุ่น ปฏิรูปหลักสูตรให้เด็กได้เรียนอย่างเท่าเทียม 3.ใช้หลักการเรื่องความเหลื่อมล้ำ เข้ามาประกอบการจัดสรรงบประมาณ

4.ปฏิรูปการผลิตครูและลดภาระงานให้ครู และ 5.ปฏิรูปหลักสูตรการประเมินผล ไม่ใช้ระบบแข่งขันหรือระบบที่ใช้เนื้อหาสาระเป็นหลัก

ดุสิตโพล
คนไทย ความยากจน หนี้สิน [Recovered]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “สวนดุสิตโพล” เผยคนไทยเชื่อ! มีเบื้องหน้าเบื้องหลังขัดแย้งในสำนักงานตำรวจฯ

: สวนดุสิตโพล