

- “ดีอีเอส”เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมเว็บไซต์
- ข้อมูลฉีดวัคซีน ความปลอดภัยไม่ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น
นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่ได้มีการแชร์ข่าวสารในประเด็นเรื่อง เว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน ระบบตรวจสอบการฉีดวัคซีนของหมอพร้อม กรอกข้อมูลเช็คแล้วจะหายหมดทุกบัญชี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการแชร์ข้อความว่าเว็บไซต์ตรวจสอบการฉีดวัคซีนเป็นของปลอมอย่ากดเข้าไปตรวจสอบเรื่องวัคซีนเด็ดขาดเป็นกลลวงมิจฉาชีพ ปกติทางการจะไม่ขอเบอร์เลขหลังบัตร มิจฉาชีพจะเอาไปใช้หลอกลวง ทางกรมการปกครอง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วชี้แจงว่า คำเตือนดังกล่าวไม่เป็นความจริง เว็บไซต์เพื่อการตรวจสอบวัคซีนดังกล่าวนั้น กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มช่องทางตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยเว็บไซต์ https://webapp.bora.dopa.go.th/mophapp/ เป็นของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองของจริง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. สำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานตรวจสอบผู้เข้าพื้นที่ ที่จังหวัดกำหนดว่าต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว (กรณีนี้ประชาชนต้องยื่นบัตรประจำตัวประชาชน ให้เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบในระบบ)
2. ประชาชนผู้ที่ไม่ได้ลง Application หรือมี Line หมอพร้อม สามารถมีระบบตรวจสอบข้อมูลการฉีดวัคซีนด้วยตนเอง เพื่อเป็นการยืนยันว่าได้รับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งมีความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
1. เลข Laser ด้านหลังบัตรเป็นเลขกำกับจำนวนของบัตร (Running Number)
2. เลข Laser ด้านหลังบัตรเป็นการบอกสถานะของบัตรที่ใช้งานในปัจุจบัน
3. เว็บไซต์นี้ใช้เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น ไม่ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะไม่แสดงข้อมูล ตามลิ้งและรูปภาพที่แนบ https://www.facebook.com/146978675375950/posts/5674299475977148/
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม ประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ที่เว็บไซต์ https://www.dopa.go.th/ หรือ โทร 1548 ซึ่งการกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง