“หมอยง” อธิบายชัด…การใช้ “พลาสมา” รักษาป่วยโควิด-19



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

โควิด 19 การให้ Plasma จากผู้ที่หายป่วยมารักษา

ศูนย์บริการโลหิตได้เก็บ Plasma จากผู้ที่หายป่วยและมีภูมิต้านทานสูง ได้เป็นจำนวนมากพอสมควร

ขณะนี้ได้เริ่มมีการนำมาใช้ในการระบาดรอบใหม่

เราไม่มีผลิตภัณฑ์ monoclonal antibody แบบที่ให้กับประธานาธิบดีอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว

ผมเองได้ติดตามการรักษา โดยใช้ Plasma ในผู้ป่วย 10 ราย ที่มีอาการปอดบวมทั้งสองข้าง หรือมีปอดบวมร่วมกับปริมาณออกซิเจนในเลือด ต่ำกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ 

การรักษามีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่รายนี้ให้การรักษาค่อนข้างช้า เพราะมีภาวะหายใจล้มเหลวแล้ว และใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว จึงได้รับ

ในรายที่รักษาตั้งแต่เริ่มมีปอดบวม ที่เพิ่มมากขึ้น หลายราย ได้ผลดีและกลับบ้านแล้ว ยังเหลืออยู่นอนในโรงพยาบาลอีก 4 ราย

หลักฐานทางวิชาการที่ผ่านมา การใช้ Plasma ในการรักษา จะต้องให้ตั้งแต่เริ่มแรก ในกลุ่มเสี่ยง ที่มีปอดบวม ก่อนที่ผู้ป่วยจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้เอง เพื่อลดจำนวนไวรัสลง

ถ้าให้ช้า จนถึงภาวะปอดบวมรุนแรง หรือภาวะหายใจล้มเหลวแล้ว จะไม่เกิดประโยชน์ในการใช้ Plasma

ขณะนี้ Plasma ที่เก็บไว้มีเป็นจำนวนมากพอสมควร และมีระดับภูมิต้านทานที่สูง มีเพียงพอที่จะไว้ใช้รักษาในการระบาดรอบใหม่นี้แน่นอน