“หมอยง” ชี้ กทม. มีแนวโน้มโรค “ไข้เลือดออก-ไข้ปวดข้อ-ไวรัสซิกา” ระบาดสูงขึ้นอย่างมาก



  • เผยการระบาดเกิดขึ้นมากในปี 61 จนถึง 62 หลังจากการระบาดของโควิด-19
  • ชี้ไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่และสูงอายุ มีอาการไข้ ปวดข้อ มีผื่นตาแดง
  • แนะทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สำรวจแหล่งน้ำในแจกัน กระถาง หรือที่มีน้ำขัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 พ.ย.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan โดยมีเนื้อหากล่าวถึงเรื่อง “ไข้ปวดข้อยุงลาย” ดังนี้…

ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคที่นำโดยยุงกำลังระบาด มาก

ยง ภู่วรวรรณ

ราชบัณฑิต

พฤศจิกายน 2565

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย chikungunya กำลังระบาดมากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 

เดิมโรคนี้ เมื่อกว่า 10 ปีก่อนจะนำโดยยุงลายสวน (Aedes albopictus) ระบาดมากในสวนยางและทางปักษ์ใต้ แต่ตั้งแต่มี 2561 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัส ปรับตัวให้เหมาะสมเข้ากับยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นยุงชนิดเดียวกันที่นำโรคไข้เลือดออก ไข้ไวรัสซิกา ทำให้การระบาดเข้าสู่ในเมืองรวมทั้งกรุงเทพฯ 

การระบาดเกิดขึ้นมากในปี 2561 จนถึง 2562  หลังจากการระบาดของ covid 19 โรคดูเหมือนลดลง แต่ก็ยังพบได้ตลอด จนมาถึงเดือนที่แล้วและเดือนนี้ พบผู้ป่วยไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้ไวรัส zika และไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้ในกรุงเทพฯ

ไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่และสูงอายุ จะมีอาการไข้และปวดข้อ มีผื่นตาแดง บางครั้งรักษาอาการก็แยกกันยากกับไวรัสซิก้า และไข้เลือดออก การระบาดมักจะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน

ในกรุงเทพฯ เองขณะนี้ก็พบโรคทั้งสามนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือไม่ให้ยุงกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะในบ้านสำรวจกันทุกบ้าน แหล่งน้ำในแจกัน กระถาง หรือที่มีน้ำขังอยู่ ควรเททิ้งหรือเปลี่ยนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง 

ไข้ปวดข้อยุงลาย ไม่ทำให้ถึงกับเสียชีวิต แต่อาการปวดข้อในบางรายค่อนข้างรุนแรง และอาจอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

ที่ศูนย์ทำการศึกษาวิจัยโรคทั้ง 3 มาโดยตลอดพบว่าขณะนี้ในกรุงเทพฯมีแนวโน้มของโรคทั้ง 3 สูงขึ้นอย่างมาก