ส่งออกก.ค.64 ทะยานมูลค่าทะลุ 2.2 หมื่นล้านเหรียญฯ

.หลังเศรษฐกิจโลก-คู่ค้าสำคัญฟื้นดันความต้องการซื้อพุ่ง

.สินค้าอาหาร-เกษตร-อุตสาหกรรมส่งออกขยายตัวยกแผง

.”จุรินทร์” เป็นปลื้ม! ปีนี้โตเกินเป้าหมาย 4% แน่นอน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือนก.ค.64 การส่งออก มีมูลค่า 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20.27% เมื่อเทียบเดือนก.ค.63 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ถ้าไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ จะขยายตัวถึง 25.38% และคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 708,651.66 ล้านบาท การนำเข้า 22,467.37 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น45.94% คิดเป็นเงินบาท 712,613 ล้านบาท เพิ่ม 48.2% เกินดุลการค้า 183.46 ล้านเหรียญฯ แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาท ขาดดุล 3,961.5 ล้านบาท หรือลดลง 104%

ขณะที่ช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 16.20% จากช่วงเดียวกันของปี 63 คิดเป็นเงินบาท 4.726 ล้านล้านบาท เพิ่ม 13.93% การนำเข้า 152,362.86 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 28.73% คิดเป็นเงินบาท 4.711 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.34% เกินดุลการค้า 14,922.44 ล้านบาท

สำรหับปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ตัวเลขเดือนก.ค.ยังคงเป็นบวกได้ มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน, ดัชนีผู้จีดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) เพิ่มขึ้น แสดงว่า ทั่วโลกมีความต้องการซื้อสินค้ามากขึ้น, การทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์) ที่แก้ปัญหา และอุปสรรคด้านการส่งออก รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าน้ำมัน และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งเคมีภัณฑ์ เม็ดพล่สติก

โดยสินค้าของไทยที่ส่งออกขยายตัว ได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้ง ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, ยางพารา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, อาหารสัตว์เลี้ยง, ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เป็นต้น และสินค้าสินค้าอุตสาหกรรม ทั้ง รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์, ผลิตภัณฑ์ยางพารา, สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์, อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เป็ต้น ขณะที่ตลาด ขยายตัวดีเกือบทุกตลาดสำคัญ ทั้งสหรับฯ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน ยุโรป อินเดีย ลาตินอเมริกา รัสเซียและซีไอเอส ยกเว้นออสเตรเลีย

“แนวโน้มการส่งออกเดือนส.ค.-ก.ย. อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต ที่บางแห่งต้องปิดสายการผลิต ทำให้การผลิตหยุดชะงัก รวมถึงการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน และบางประเทศที่ไทยส่งออก ทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนติดขัดในบางช่วง เช่น สินค้าข้ามแดนจากไทยผ่านลาว เวียดนาม ไปจีน ซึ่งที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกผลไม้ไทยติดขัดบ้าง หรือแม้แต่มาเลเซีย ที่เคร่งครัดการแก้ปัญหาการระบาด จนกระทบต่อการส่งออกน้ำยางพาราของไทย และกระทบต่อราคาน้ำยางดิบในประเทศ อย่างไรก็ตาม กรอ.พาณิชย์ จะเร่งแก้ปัญหาภาคการผลิตที่ติดขัด และแก้อุปสรรคส่งออกให้เร็วที่สุด และดีที่สุด”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนหลัง ตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค.64 มีกิจกรรมที่จะดำเนินการไม่น้อยกว่า 130 กิจกรรม ทั้งการส่งเสริมการส่งออกในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 แล้ว โดยเป้าหมายการส่งออกเติบโตทั้งปี 64 ไว้ที่ 4% ซึ่งจะทำให้เกิน เพราะตัวเลข 7 เดือน ขยายตัวได้แล้ว 16.2% ถือว่าทำได้เกินเป้าไปแล้ว 4 เท่า