

- สำรวจพบท่าเรือ จำนวน 437 ท่า มีสภาพใช้งานได้ 369 ท่า สภาพชำรุด 68 ท่า
- เผยเฉพาะริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีโป๊ะ-ท่าเรือ 260 ท่า สามารถใช้งานได้ 230 ท่า
- ลั่นท่าเรือที่ชำรุดได้ปิดกั้น พร้อมติดป้ายแจ้งเตือน “ห้ามใช้งาน”
วันนี้ (17 พ.ย.64) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ได้ออกตรวจสอบความปลอดภัยท่าเทียบเรือและโป๊ะ (ทางน้ำ) บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 6 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง เขตพระนคร , ท่าเรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร , ท่าเรือวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ , ท่าเรือวังหลัง (ฝั่งธนบุรี) เขตบางกอกน้อย , ท่าเรือสะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งธนบุรี) เขตบางกอกน้อย และท่าเรือสะพานพระราม 8 เขตบางพลัดโดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจสำนักการระบายน้ำ สำนักการแพทย์ สำนักงานเขตพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ
นายสกลธี กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลงานลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2564 ซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 พ.ย.64 จึงสำรวจโป๊ะและท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ในปี 2564 โดยสำรวจพบท่าเรือ จำนวน 437 ท่า มีสภาพใช้งานได้ จำนวน 369 ท่า สภาพชำรุด 68 ท่า เฉพาะริมแม่น้ำเจ้าพระยามีโป๊ะและท่าเรือ 260 ท่า มีสภาพสามารถใช้งานได้ 230 ท่า เป็นท่าเรือเอกชน 169 ท่า ท่าเรือสาธารณะ 59 ท่า ไม่มีเจ้าของ 2 ท่า มีท่าเรือชำรุด 30 ท่า เป็นท่าเรือเอกชน 24 ท่า ท่าเรือสาธารณะ 6 ท่า โดยโป๊ะและท่าเรือที่ใช้งานได้จะมีป้ายเตือนรองรับผู้โดยสารสูงสุด และขอความร่วมมือลงไปน้อยกว่าจำนวนที่กำหนด 25% ส่วนท่าเรือที่ชำรุดได้ปิดกั้นพร้อมติดป้ายแจ้งเตือน “ห้ามใช้งาน” แล้ว

ทั้งนี้ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่ประจำทุกจุด เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พร้อมทั้งขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งสั่งการให้เรือตรวจการณ์ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ และสำนักการแพทย์ ร่วมตรวจการณ์ในวันงานเพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วย สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันลอยกระทงฐาน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุด เวลา 17.13 น.ที่ระดับ +1.06 ม.รทก.อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ
นายสกลธี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2564 และออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟพลุ ตะไล โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2564 ขอความร่วมมือผู้ผลิต สะสมจำหน่าย ผู้เล่นดอกไม้เพลิง และโคมลอย ประชาชนทั่วไป ห้ามมิให้จุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมถึงห้ามจำหน่ายและห้ามเล่นประทัดจีนทุกชนิด ประทัดรูปทรงกลม รูปไข่ รูปสามเหลี่ยม และไดนาไมท์ ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะดำเนินการกวดขัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วน 199 และ1555 ตลอด 24 ชั่วโมง