

มท.3 เป็นประธานพิธีเปิดงาน “วันสถาปนาและงานของดีจังหวัดบึงกาฬ” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “9 ปี ก้าวหน้า มุ่งสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจชายแดนแห่งลุ่มน้ำโขง” พี่น้องบึงกาฬเที่ยวชมงานคึกคักแม้สายฝนโปรยปราย

เมื่อวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2563 เวลา 17.00 น. ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) เป็นประธานในพิธีสักการะศาลเจ้าแม่สองนาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยคุณแว่นฟ้า ทองศรี คณะทำงาน คณะที่ปรึกษา โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เข้าร่วมในพิธี
จากนั้น รมช.มท. (มท.3) ประธานในพิธีเดินนำขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะ ร่วมกับข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน นักศึกษา พี่น้องประชาชนจังหวัดบึงกาฬ เคลื่อนขบวนไปยังปะรำพิธีบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (บูชาพญานาค) บริเวณถนนข้าวเม่าริมฝั่งแม่น้ำโขง ก่อนที่จะเดินทางพร้อมคณะต่อไปยังเวทีกลาง

ต่อมาเวลา 19.00 น. รมช.มท. (มท.3) ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน “วันสถาปนาและงานของดีจังหวัดบึงกาฬ” ประจำปี พ.ศ.2563 “9 ปี ก้าวหน้า มุ่งสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจชายแดนแห่งลุ่มน้ำโขง” โดยกล่าวว่า “จังหวัดบึงกาฬได้จัดตั้งเป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 โดยการผลักดันจากหลายภาคส่วน จากการผลักดันจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬดังกล่าว ทำให้จังหวัดบึงกาฬเกิดการพัฒนา มีความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาจังหวัด “สร้างเมือง สร้างคน สร้างรายได้” มีแผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Project) หลายๆ โครงการ ที่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลักดันให้จังหวัดบึงกาฬได้รับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในอนาคต เช่น โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ (Land Mark) และโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 139 กิโลเมตร

โดยแผนงาน/โครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะยังประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชนจังหวัดบึงกาฬ และใกล้เคียง ได้เป็นอย่างดี โดยจะได้เร่งรัดผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของจังหวัดบึงกาฬในการแข่งขันด้านการค้า การลงทุน การค้าชายแดน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะผลักดันให้จังหวัดบึงกาฬเป็นเมือง Smart City สู่ “ศูนย์กลางเศรษฐกิจชายแดนแห่งลุ่มน้ำโขง” ในอนาคตอันใกล้นี้”