

- ชี้มีกำลังผลิตวันละ 5 ล้านชิ้นแต่สั่งโรงงานผลิตเพิ่มแล้ว
- ยังคุมราคาขายไม่เกินชิ้นละ 2.5 บาทใครขายเกินติดคุก
- ส่วนใครต้องการส่งออกยังต้องขออนุญาตเหมือนเดิม
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม ผู้ประกอบการผลิตหน้ากากอนามัย ผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม เช่น ลาซาด้า ชอปปี เฟซบุ๊ค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อติดตามสถานการณ์และหาแนวทางป้องกันปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งจากการหารือยืนยันว่า หน้ากากยังมีเพียงพอใช้ในประเทศ ไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจาก 11 โรงงาน เป็น 30 โรงงาน และมีกำลังผลิตเฉลี่ยเพิ่มเป็นวันละ 5 ล้านชิ้น จากเดิมวันละ 1.2 ล้านชิ้น แต่กรได้กำชับให้โรงงานเพิ่มกำลังการผลิตให้เต็ม 100% โดยเป้าหมายหลักต้องการให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงได้เข้าถึงก่อนเป็นกลุ่มแรก

ส่วนการควบคุมราคาและการจำหน่ายยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิม โดยกำหนดราคาขายสูงสุดไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท ส่วนหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ให้คำนวณราคาตามต้นทุนการนำเข้า เช่น บวกกำไรถึงผู้ค้าส่งได้ไม่เกิน 10% ผู้ค้าส่งถึงผู้ค้าปลีกกำไรไม่เกิน 10% และผู้ค้าปลีกถึงผู้บริโภคไม่เกิน 23% ส่วนเรื่องการส่งออกยังต้องขออนุญาตการส่งออกเหมือนเดิม พร้อมกันนี้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์ราคา และการค้าอย่างใกล้ชิดทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่างจังหวัด เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขาย อีกทั้งได้ประสานผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ติดตามการจำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคาด้วย

“การผลิตหน้ากากอนามัยไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตอนนี้มีวัตถุดิบเพียงพอ และที่สำคัญ ยังมีหน้ากากทางเลือกสำหรับใช้ป้องกันการแพร่ระบาดได้ เช่น หน้ากากผ้า ซึ่งสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง จึงไม่จำเป็นต้องเลือกใช้เฉพาะหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เท่านั้น รวมถึงหากประชาชนล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม ก็ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ ส่วนเรื่องของแอลกอฮอล์ เจลล้างมือ กรมจะติดตามใกล้ชิดเช่นกัน”

นายวัฒนศักย์ กล่าวต่อถึงการร้องเรียนปัญหาการจำหน่ายหน้ากากว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามาแต่อย่างไร แต่ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ติดตามดูการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย หากพบผู้ค้าจำหน่ายเกินราคาที่กำหนด สามารถร้องได้ที่สายด่วนกรมโทร. 1569 กรมจะดำเนินการตรวจสอบทันที หากพบผิดจะมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือถ้าจำหน่ายแพงเกินสมควร มีการกักตุน จนทำให้ตลาดเกิดความปั่นป่วน มีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับสูงสุด 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
