พักหนี้ดีจริงหรือ?

ในช่วงที่คนไทยจำนวนมากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทจำนวนมากต้องปิดกิจการชั่วคราว และหลายบริษัทกำลังลุ้นให้ไม่ต้องปิดกิจการถาวร พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ ลูกจ้างจำนวนมากประสบปัญหารายได้ลดลง หลายคนตกงาน รวมทั้ง การหางานใหม่ในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระของประชาชนที่มีหนี้สิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แม้แต่กระทั่งบริษัทปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน( นอนแบงก์) สามารถพักหนี้ให้ลูกหนี้ได้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขการคำนวณดอกเบี้ยและเงินต้นของธนาคารพาณิชย์  ตามที่ธปท.ได้ออกมาชี้แจง การพักหนี้อาจจะไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด 

โดยในอินโฟกราฟฟิหของธปท.ระบุว่า หากลูกหนี้มีเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเดือนละ 10,000 บาท ส่วนหนี้หักต้น 4,000 บาท และจ่ายดอกเบี้ย 6,000 บาท หากผ่อนหนี้ไปตามปกติ  สิ้นเดือนที่ 6 ยอดหนี้รวม จะเหลือ 976,000 บาท หรือเอาเงินต้น 1 ล้านลบด้วย เงินส่งที่หักต้นเดือนละ 4,000 บาท 6 เดือน คือ 24,000 บาท

แต่หากเราเลิกพักเงินต้น จะหมายความว่าอย่างไร ตามตารางธปท.นี้ หมายความว่า หากเราเลือกพักหนี้ 6 เดือน ในส่วนของเงินต้น ส่งแต่ดอกเบี้ย หมายความว่า 6 เดือนผ่านไป เราแค่รักษาเครดิตเอาไว้ แต่เงินที่ส่งไป ไม่ได้ลดเงินต้น หรือดอกเบี้ยรวมของเงินก้อนใหญ่เลยแม้แต่บาทเดียว  ทำให้หลังจาก 6 เดือน หนี้รวมยังอยู่ที่ 1 ล้านบาท 

ทางเลือกสุดท้าย พักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย อันนี้เท่ากับต้นไม่ลด ดอกเบี้ยรวมไม่ลด แถมยังมีหนี้เพิ่มจากดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนที่เราพักไปเพิ่มด้วย ทำให้หลัง 6 เดือน  ยอดหนี้รวมที่จะผ่อนส่งต่อไป เพิ่มขึ้นเป็น 1,03,600 บาท

ดังนั้น อยากให้หนทางของการ “พักหนี้” เป็นของคนที่อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก หรือวิกฤตจริงๆ เท่านั้น

หากใคร ที่ยังพอมีกำลังส่งหนี้ อยากให้กัดฟันผ่อนส่งต่อไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่อัตราดอกเบี้ยสูงมาก 18-28% หากผ่อนลดลง หรือ ขอพักหนี้ไปก่อน เห็นตัวเลขเงินต้นรวมใหม่ที่เราต้องผ่อนส่ง อาจจะต้องถึงช็อกกันดีเดียว

ทางที่ดีก่อนที่จะตัดสินใจ “พักหนี้” ลองขอให้ธนาคารพาณิชย์ คำนวณภาระหนี้รวมที่เราจะต้องผ่อนส่งหลังจากระยะเวลาพักหนี้ไปแล้ว ให้รับรู้ก่อนว่า การพักหนี้ในกรณีไหน เมื่อจบโครงการพักหนี้แล้ว เงินต้นที่เราจะต้องส่งต่อเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพิ่มเป็นเท่าไร และดอกเบี้ยที่จะคิดในช่วงหลังจากนั้น จะเป็นดอกเบี้ยตามเงินต้นก่อนพักหนี้ หรือหลังพักชำระหนี้แล้วให้ชัดเจน

เมื่อได้ตัวเลขที่ชัดเจนแล้ว ค่อยพิจารณาว่า เราไหวไหม หากจะพักหนี้ หรือ ไหวไหม ถ้าจะส่งหนี้ต่อ และมีทางเลือกอื่นอีกไหมที่จะช่วยได้มากกว่านี้

โดยอีกทางเลือกที่น่าสนใจว่า คือ การเข้าไปเจรจาเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเราสามารถเจรจาขอให้ธนาคารพาณิชย์ ลดเงินต้น หรือลดดอกเบี้ยลงได้บางส่วน หรือเจรจาที่จะผ่อนชำระในอัตราที่ลดลง ภายใต้วงเงินเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้ตกลงไว้ในการเซ็นสัญญาครั้งแรก

ขณะที่ มีลูกหนี้บางรายที่ออกไปในแนว “ฮาร์ดคอร์”  ให้ความเห็นว่า ปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสีย หรือหนี้ทีไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หนี้เอ็นพีแอล” จะดีกว่าไหม เพราะส่วนใหญ่ หากเป็นหนี้เอ็นพีแอลแล้ว  หากเข้าไปเจรจาปรับโครงหนี้กับแบงก์จะได้เงื่อนไขที่ดีกว่ามาก

เช่น หากเป็นนี้เอ็นพีแอลไม่นาน แล้วเข้าไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เลย จะมีการตัดยอดเงินต้น ลดดอกเบี้ยปรับลงให้ ทำให้ยอดที่ต้องปิดบัญชีลดลงได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะปล่อยให้เป็นหนี้เสียนี้ ข้อเสียน่าจะมีมากกว่าข้อดี เพราะต้องคำนวณให้ดีว่า เมื่อเราผิดนัดชำระหนี้แล้ว ดอกเบี้ยที่แบงก์คิดเราจะเป็นดอกเบี้ยปรับซึ่งสูงกว่าปกติมาก และส่วนที่เขาลดให้เราอาจจะไม่ได้มากอย่างที่เราคาดหวังไว้ และที่สำคัญจะต้องแลกมาด้วย “ประวัติเครดิต” ของเราที่จะกลายเป็น “ลูกหนี้ประวัติเสีย” จะต้องติด “ตัวแดง” ค้างอยู่ในประวัติศูนย์ข้อมูลเครดิต หรือเครดิตบูโร 

ซึ่งแม้ว่า ในทางทฤษฎี บอกว่าเมื่อเราจ่ายหมดครบ เราจะกลายเป็นลูกหนี้ตัวดำทันที แต่ในข้อเท็จจริง เวลาที่แบงก์จะปล่อยกู้ เขาจะดูย้อนหลังกลับไป 3 ปี หากเราติดตัวแดงให้เห็นอยู่ โอกาสที่เราจะได้กู้ใหม่ก็ยากลำบาก ดังนั้น คงต้องคิดให้ดีว่าคุ้มหรือไม่ที่จะเลือกวิธีนี้

อ่านมาถึงตรงนี้ ทางนั้นก็ไม่ดี ทางนี้ก็ไม่ไหว แล้วจะยังไงดี  ในส่วนตัวแล้ว เชื่อในทางสายกลาง ซึ่งอยากจะนำเสนอธปท.ให้หารือกับแบงก์พาณิชย์  และที่สำคัญ เป็นแนวทางที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งหนึ่งได้ทำแล้ว และถือเป็นสิ่งที่กล้าหาญ และเสียสละมาก

โดยล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศยกระดับความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 โดยให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 4 เดือน และธนาคารจะยกดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ทั้ง 4 เดือนให้กับลูกค้า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลากู้ตามสัญญาด้วย

สำหรับกลุ่มลูกค้าทุกวัตถุประสงค์การกู้ที่มีวงเงินกู้ทุกบัญชีรวมกัน ไม่เกิน 3 ล้านบาท และมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท ครอบคลุมลูกค้า 1.1 ล้านบัญชี ทั้งสถานะบัญชีปกติ และสถานะบัญชีดอกเบี้ยผิดนัดหรือสถานะกฎหมาย 

ซึ่งกรณีนี้ จะช่วยลูกหนี้ได้มากกว่า การพักหนี้ปกติอย่างมาก และจริงอยู่ธนาคารอาจจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่แบงก์สามารถกู้เงินจากธปท.ในอัตรา 0.01% ตามมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี มาถั่วเฉลี่ยภาระตรงจุดหนี้เพิ่มเติมได้ 

ดังนั้น หาก ธปท.เอง ก็เห็นและเป็นคนชี้แจงเองว่า การพักหนี้ และยังเดินดอกเบี้ยอยู่ เป็นหนทางที่ไม่ได้ช่วยเหลือคนไทยที่กำลังลำบากวันนี้ได้อย่างแท้จริง เดินหน้าอีกขั้น ช่วยเจรจากับแบงก์ปรับวิธีพักหนี้ ให้มีการยกเว้นดอกเบี้ยไปด้วย อาจจะไม่ต้องยกดอกเบี้ยให้ยาวถึง 6 เดือน เพราะอาจจะเป็นภาระที่มากเกินไป อาจจะเริ่มที่ 3 เดือน หรือจนกว่าวิกฤตโควิด-19 จะดีขึ้น

ช่วยกันอีกครั้งได้หรือไม่ ทั้งธปท. และสถาบันการเงิน !!!