ปตท.ทุ่มเต็มพิกัดลุยธุรกิจใหม่ๆเย้ยโควิด-19



  • เปิดตัวปั้มชาร์จรถไฟฟ้าในปั้มเอ็นจีวี
  • ต่อยอดผลิตภัณฑ์ฮะรุมิกิเป็นคาเฟ่พร้อมเสิร์ฟ
  • ผลิตน้ำผลไม้-ครีมทามือ-เบเกอร์รี่นำร่อง

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. จะเร่งพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ที่ มีแผนจะปรับปรุงสถานีให้บริการก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์(ปั๊มเอ็นจีวี)ให้ เป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) เพื่อการสนับสนุนการใช้งานรถอีวีในประเทศไทย โดยจะเริ่มดำเนินในเขตพื้นที่ กรุงเทพฯ(กทม.) และปริมณฑล เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มแท็กซี่ ที่อาจจะมีการสนับสนุนให้เปลี่ยนเป็นการใช้รถอีวีแทนในอนาคต ก่อนที่จะขยายเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้สถานีชาร์จสำหรับอีวี จะรองรับหัวชาร์จทั้งระบบกระแสไฟฟ้าตรง (DC) ที่เป็นการชาร์จแบบเร็ว(ฟาส ชาร์จ) และกระแสไฟฟ้าแบบสลับ (AC)

“ขณะนี้ปตท. กำลังศึกษาทิศทางความพร้อมในหลาย ๆ ด้านเพื่อตัดสินใจว่าจะเป็นผู้ลงทุนด้วยตัวเอง หรือจะเปิดการประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ลงทุนอื่น ๆ เข้ามาทำ ซึ่งปั๊มเอ็นจีวีของปตท.มี ในปัจจุบันมีอยู่ 400 สาขาทั่วประเทศ ที่จะเป็นโอกาสที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ โดยปัจจุบันแนวโน้มความต้องการใช้รถอีวีมีมากขึ้น การลงทุนดังกล่าว เป็นการเพิ่มในส่วนสเตชั่นอีวีเข้าไป ไม่ใช่การยกเลิกเอ็นจีวี โดยเงินลงทุนต่อหัวชาร์จในระบบ DC จะอยู่ที่ 2 ล้านบาทต่อปั้ม โดยสาขาแรกที่คือสาขาถนนกำแพงเพชร 2”

นอกจากนี้ ปตท. จะต่อยอดธุรกิจภายใต้แบรนด์สินค้าฮะรุมิกิ(Harumiki) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากงานวิจัยโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลวในการปลูกพืชเมืองหนาว โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง ซึ่งปัจจุบันสามารถนำผลไม้ อย่างเช่น สตรอเบอรี่ และผลไม้เมืองหนาวมาพัฒนาเป็นผลิตภัฑ์ต่าง ๆ ได้นอกเหนือจากการขายเป็นผลสด ทั้งน้ำผลไม้ ครีมทามือ และสเปร์ยแอลกอฮอล์ โดย ปตท. จะใช้วัตถุดิบภายใต้แบรนด์ดังกล่าวมาต่อยอดให้เป็นร้านคาเฟ่ในรูปแบบใหม่ ให้บริการเครื่องดื่มและขนมเบเกอรี่ ซึ่งจะนำร่องก่อนในพื้นที่ ปตท. สำนักงานใหญ่ ก่อนที่จะขยายสาขาในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม

สำหรับสถานการณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยไตรมาส1 พบว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 7-8% หรือ อยู่ที่ 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัว ก่อนจะประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก3 ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จึงต้องติดตามสถานการณ์การใช้อีกครั้ง ขณะที่ตลอดทั้งปีนี้ คาดการณ์ปริมาณการใช้อยู่ที่ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้แผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ที่ปตท.ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อยู่ระหว่างการหารือกัน เพื่อกำหนดปริมาณ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขณะที่ภาพรวมตลาดแอลเอ็นจีคาดว่าปีนี้ประเทศไทยมีความต้องการใช้รวม 6.5 ล้านตัน ขณะที่สัญญานำเข้าแอลเอ็นจีที่เป็นระยะยาว(ลอง เทอม) อยู่ที่ 5.2 ล้านตัน และเป็นการซื้อจากตลาดจร(สปอต)อีก 500,000 ตัน

#Thejournalistclub #ปตท.#โควิด19