

- น้ำมันแพงทำค่าเดินทางเพิ่มขึ้น เงินเหลือเก็บลดลง
- ร้อยละ 76.7 กังวลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นอีก
- ร้อยละ 15.3 ชี้ควรปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ
วันที่ 19 มี.ค.65 “กรุงเทพโพลล์” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “น้ำมันแพงกับผลกระทบที่ประชาชนได้รับ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,123 คน ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.1 ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง โดยระบุ ทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น มีค่าเดินทางเพิ่มขึ้น เงินเหลือเก็บลดลง ขณะที่ร้อยละ 15.9 ระบุ ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่ค่อยได้เดินทาง บริษัทจ่ายค่าน้ำมันให้ ส่วนใหญ่ใช้บริการรถสาธารณะ
เมื่อถามถึงการปรับตัวรับมือกับปัญหาน้ำมันแพง ร้อยละ 57.1 ใช้วิธีงดเดินทาง งดเที่ยวช่วงวันหยุด, ร้อยละ 44.9 ใช้วิธีวางแผนก่อนเดินทางเพื่อเลี่ยงรถติด และร้อยละ 40.4 ใช้วิธีประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อเก็บเงินไว้จ่ายค่าน้ำมัน ขณะเดียวกัน ร้อยละ 76.7 มีความกังวลว่า หากราคาน้ำมันยังแพงอยู่ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในท้องตลาดอาจแพงขึ้นอีก, ร้อยละ 11.1 เกิดการกู้หนี้ ยืมสินเพิ่มขึ้น และร้อยละ 5.5 เกิดการก่ออาชญากรรม ขโมยน้ำมัน การลักลอบขนน้ำมันเถื่อน
ที่น่าสนใจ ร้อยละ 85.7 ระบุ ไม่ค่อยเชื่อมั่น ถึงไม่เชื่อมั่นเลยต่อรัฐบาลว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาราคาน้ำมันแพงได้ ขณะที่ ร้อยละ 14.3 ระบุ ค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมาก ส่วนร้อยละ 32.2 เห็นว่ารัฐบาลควรทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันและค่าเดินทางมากที่สุด คือ ควรขายน้ำมันราคาถูกให้กับบางกลุ่ม เช่น ธุรกิจขนส่งสินค้าและอาหาร มอเตอร์ไซค์วิน แท็กซี่ ขนส่งมวลชน ฯลฯ ส่วนร้อยละ 15.3 ควรปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยจากโควิด เพื่อให้คนหันมาใช้แทนรถส่วนตัว และร้อยละ 14.4 คือ ลดภาษีน้ำมัน ลดจำนวนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อไม่ให้น้ำมันในประเทศขึ้นราคา