

- นายกฯ หารือเอกอัครราชทูตเปรูฯ
- เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน
- ทั้งการค้า การลงทุน ความร่วมมืออื่นๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา นางสาวเซซิเลีย ซูนิลดา กาลาร์เรตา บาซัน (H.E. Miss Cecilia Zunilda Galarreta Bazán) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่
ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการหารือแล้ว นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตเปรูฯ แสดงความยินดีในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง และได้เข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เชื่อมั่นว่า ประสบการณ์และการทำงานของเอกอัครราชทูตเปรูฯ จะส่งผลให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับเปรูเพิ่มพูนมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่า หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนไทยมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตเปรูฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน
“เอกอัครราชทูตเปรูฯ รู้สึกยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นจากรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ การหารือในวันนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้กระชับความสัมพันธ์ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่สวยงาม มีความสัมพันธ์กับเปรูอย่างราบรื่นและใกล้ชิด นอกจากนี้ ไทยและเปรูยังมีความร่วมมือที่ครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ทั้งด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางด้านการพัฒนา ความร่วมมือในพหุภาคี และในกรอบเอเปค”

ส่วนความร่วมมือด้านการค้า ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า การค้าของไทยกับเปรูยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งไทยและเปรูต่างมีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอาหารรายใหญ่ของโลก โดยนายกรัฐมนตรีมองว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับนโยบายของเปรูที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานชีวภาพ และการเกษตรยั่งยืน ทั้งเกษตรอินทรีย์และคาร์บอนต่ำ”
นายอนุชากล่าวอีกว่า ด้านเอกอัครราชทูตเปรูฯ ชื่นชมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ว่าสอดคล้องกับนโยบายของเปรู และมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โอกาสนี้ เปรูเชิญชวนภาคธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน โรงพยาบาล และภาคบริการต่าง ๆ ซึ่งไทยมีศักยภาพ และสามารถเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเปรูได้ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเปรูฯ ยังเห็นพ้องกับไทยในการสานต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การขยายมูลค่าการค้าระหว่างกัน และภาคเอกชนทั้งสองประเทศจะได้ใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-เปรู อย่างเต็มที่ เอื้อต่อการขยายตัวของการส่งออก และขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย
ส่วนความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนา นายกรัฐมนตรียินดีที่คณะผู้แทนจากเปรูได้เดินทางมาไทยเพื่อร่วมโครงการด้านการท่องเที่ยว เชิงศิลปะด้านอาหารเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งสองฝ่าย พร้อมเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือกับเปรู ในสาขาที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน ซึ่งเอกอัครราชทูตเปรูฯ ยินดีอย่างยิ่งที่จะแสวงหาความร่วมมือกับไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นอจกากนี้ยังมีความร่วมมือในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรีพร้อมส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีกับเปรู รวมถึงความร่วมมือในกรอบพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) ซึ่งทราบว่า เปรูได้เสนอโครงการความร่วมมือด้านดิน และการจัดการปุ๋ยในกรอบพันธมิตรแปซิฟิก ไทยพร้อมพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินความร่วมมือดังกล่าวกับเปรู ด้านเอกอัครราชทูตเปรูฯ ยินดีแสวงหาความร่วมมือกับไทยเพิ่มเติมในเรื่องการเกษตร การทำฟาร์ม และปุ๋ย โดยมองว่าเป็นสาขาที่ฝ่ายไทยมีความเชี่ยวชาญ
สำหรับความร่วมมือในกรอบเอเปค เอกอัครราชทูตเปรูฯ กล่าวว่า นายโฮเซ เปโดร กัสติโย เตร์โรเนส ประธานาธิบดีเปรู ยืนยันการเข้าร่วมการประชุมที่กรุงเทพฯ ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นโอกาสให้หารือถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน นายกรัฐมนตรีพร้อมต้อนรับประธานาธิบดีเปรูในการเข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมกล่าวขอบคุณเปรูที่ให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย โดยหัวข้อหลักและประเด็นในการประชุมครั้งนี้สอดคล้องกับประเด็นที่เปรูให้ความสนใจ โดยเฉพาะการสนับสนุนการค้าพหุภาคีและการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยั่งยืน ครอบคลุม และพร้อมรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต โดยการประชุมที่ไทยจะเป็นผลต่อเนื่องที่สำคัญ ปูทางไปสู่การเป็นเจ้าภาพเอเปคของเปรูในปี ค.ศ. 2024 ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่