“อนุทิน”สวมบทมือปราบPM2.5 สั่งทุกจังหวัดป้องกัน-แก้ไขแบบครบวงจร

“อนุทิน” สวมบทมือปราบPM2.5 สั่งทุกจังหวัดป้องกันและแก้ไขด่วน บังคับใช้กฎหมายคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ เตรียมแผนเผชิญเหตุ คน เครื่องมือพร้อม

  • ประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างความร่วมมือภาคประชาชน
  • เข้าใจต่อสถานการณ์ มาตรการข้อกฎหมาย บทลงโทษหากฝ่าฝืน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้มอบนโยบายในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2566-67

ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้งของทุกปี ประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากโดยธรรมชาติ สภาพอากาศและภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเกิดสถานการณ์และกิจกรรมของมนุษย์ จนเกิดการสะสมของฝุ่นละอองในปริมาณสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  ตามข้อสั่งการ รมว.มหาดไทย ได้ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการสนับสนุนการสั่งดำเนินการ ตลอดจนแจ้งเตือนแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

โดยให้ฝ่ายปฏิบัติการให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด กำชับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ส่วนกรณีการเผาในพื้นที่การเกษตร ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ตลอดจนใช้กลไกอาสาสมัครร่วมรณรงค์งดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการกำจัดหรือใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ไปสู่การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มแทน เช่นการไถกลบตอ ซัง การใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รมว.มหาดไทยได้กำชับให้กองอำนวยการ ปภ.จังหวัด ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน อาทิ พื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ชุมชน/เมือง ตลอดจนข้อมูลประชากรกลุ่มเสี่ยง ข้อมูลทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมกับมีแนวทางปฏิบัติแต่การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แต่ละระดับอย่างชัดเจน ตลอดจนประสานการปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งชุดเฝ้าระวังระดับพื้นที่ สนับสนุนการลาดตระเวนเฝ้าระวัง ป้องปรามการลักลอบเผาในเขตพื้นที่ป่า เขตพื้นที่การเกษตร

ทั้งนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า หมอกควัน หรือระดับปริมาณฝุ่น PM2.5 แนวโน้มสูงเกินค่ามาตรฐาน ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการปฏิบัติตามมาตรการ บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นอย่างเข้มงวด กรณีที่เกิดไฟป่าให้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะชำนาญ ประกอบกำลังเป็นชุดปฏิบัติการพร้อมอุปกรณ์เข้าระงับเหตุการณ์โดยเร็ว

“มท.1 มีความห่วงใยผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย จึงเน้นย้ำให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครที่เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ จัดอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่มีความเหมาะสม กรณีการเกิดไฟป่าที่กำลังภาคพื้นที่เข้าถึงยาก ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่มีอากาศยานเข้าสนับสนุน และให้ดูแลด้านสวัสดิการและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบด้วย”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทินยังได้เน้นย้ำให้มีการสื่อสารเชิงรุกผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสาเหตุการเกิดฝุ่นละอองที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการลดปัญหาได้ เข้าใจต่อสถานการณ์ มาตรการข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน

ส่วนการดูแลสุขภาพประชาชนให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข ให้ดำเนินการให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูล หรือการให้ความรู้ผ่านช่องต่างๆ  และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดพื้นที่และระบบบริการประชาชนในพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่นเพื่อดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพในกรณีจำเป็นต่อไป